วันนี้ (30 พ.ค.2563) ในช่วงเช้า ส.ส.ร่วมรัฐบาลและ ส.ส.ร่วมพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายเกี่ยวกับช่องโหว่ของเงื่อนไข พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ว่าอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และอาจทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารเข้าถึงได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม : "ยุทธพงศ์" ชี้ช่องโหว่เงินกู้ก้อนสุดท้ายแก้ปัญหาไม่ได้จริง
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลุกขึ้นชี้แจงโดยระบุว่า การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายมาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยลง การพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป การเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการใส่เงินใหม่หรือซอฟต์โลน โดยในกลไกซอฟต์โลนเน้นการปล่อยสินเชื่อใหม่ ผ่านลูกค้าที่มีสินเชื่อเดิมในสถาบันการเงิน โดยมีลูกค้า SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 500 ล้านบาท รวมกันอยู่ถึง 1.7 ล้านราย ดังนั้น ลูกค้า SMEs ทั้งหมดจะได้อานิสงค์จากมาตรการนี้
นายวิรไท ย้ำว่า สถาบันการเงินสามารถนำสินเชื่อซอฟต์โลนไปปล่อยให้ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้เช่นกัน ไม่จำกัดเฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ดูแลทั้งวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และประชาชนจำนวนมากที่กู้เงินไปทำธุรกิจ
พ.ร.ก.ซอฟโลน ฉบับนี้ ไม่ควรเรียกว่า พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาล เพราะกลไกของซอฟต์โลนเป็นการใช้สภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เป็นหนี้สาธารณะ ไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป
สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ธปท.ปล่อยที่อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 0.01 สถาบันการเงินนำไปปล่อยต่อที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในช่วง 2 ปีแรก กลไกซอฟต์โลนโดยปกติสถาบันการเงินเป็นคนรับความเสี่ยงด้านเครดิต กรณีเกิดเป็นหนี้เสียขึ้น สถาบันการเงินจะเป็นผู้รับผิดชอบ และสถาบันการเงินเป็นผู้ประกอบการ แต่รอบนี้มีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับสภาวะด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยชดเชยค่าเสียหายบางส่วน เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้เร็วขึ้น
ธปท.ยอมรับสถาบันการเงินปล่อยซอฟต์โลนช้า
ส่วนกรณีที่ ส.ส.ตั้งข้อสังเกตว่ามีการปล่อยสินเชื่อช้า สำหรับในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซอฟต์โลนได้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 58,000 ล้านบาท ซอฟต์โลนในเจตนาของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการเยียวยาในช่วงการระบาดของ COVID-19 ช่วงแรก และมีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย ดังนั้น ในกำหนดระยะเวลา พ.ร.ก.จะมีกำหนด 6 เดือนแรกของการยื่นคำขอกู้ และขยายได้อีก 2 รอบ รอบละ 6 เดือน
ธปท.ไม่ได้คาดหวังว่าจะซอฟต์โลนจะออกทั้ง 5 แสนล้านบาทในครั้งเดียว แต่ต้องยอมรับว่า การปล่อยสินเชื่อที่ผ่านมา ช้ากว่าที่ ธปท.ต้องการจะเห็น เพราะสถาบันการเงินมีกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่ต่างกัน ลูกหนี้บางส่วนก็ไม่อยากจะขอหนี้เพิ่มเติมในสภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน
ปัดซอฟต์โลนเอื้อนายทุน ชี้ร้อยละ 51 เป็นลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก
สำหรับกรณีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการเอื้อนายทุนหรือลูกหนี้รายใหญ่ นายวิรไท ชี้แจงว่า การกระจายตัวของซอฟต์โลน ธปท.อนุมัติในรอบ 1 เดือน ยอดรวม 58,208 ล้านบาท ลูกหนี้รวม 35,217 ราย เฉลี่ยรายละ 1.65 ล้านบาท ในจำนวนนี้
- ร้อยละ 51 ของลูกหนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท
- ร้อยละ 23 วงเงินเดิม 5-20 ล้านบาท
- รวมร้อยละ 74 เป็นลูกหนี้วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท
- ร้อยละ 71 เป็นลูกหนี้ที่อยู่ต่างจังหวัด
- ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงสูง จัดสรรวงเงินแล้ว 5,100 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธปท.ยังได้มีหนังสือเรียนไปถึงทุกสถาบันการเงินขอให้ให้ความสำคัญกับวิสาหกิจขนาดย่อม และผู้ประกอบการส่วนภูมิภาคเป็นลำดับแรก รวมถึงต้องไม่เป็นลักษณะให้สินเชื่อลูกหนี้ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หลายทาง ธปท.ยังมีมาตรการการพักชำระหนี้ให้ SMEs ซึ่งมีลูกค้า SMEs 1 ล้าน 5 หมื่นราย ที่ได้รับประโยชน์จากการพักชำระหนี้ทั่วไปภายใต้ พ.ร.ก.ฉบับนี้
ส่วนกรณีผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ประโยชน์จากซอฟต์โลนไปปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการรายเล็ก เพื่อการกินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย หากมีหลักฐานขอให้นำมาแจ้ง ธปท. แล้วจะรีบดำเนินการสอบสวนทันที หากพบว่ามีการกระทำผิดจริงจะลงโทษสถาบันการเงินและเรียกคืนเงินซอฟต์โลนต่อไป เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ และดำเนินการไม่ระมัดระวัง