ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“พรเพชร” ระบุชะลอทูลเกล้าฯ “สุชาติ” นั่ง กรรมการ ป.ป.ช.

การเมือง
8 มิ.ย. 63
15:09
705
Logo Thai PBS
“พรเพชร” ระบุชะลอทูลเกล้าฯ “สุชาติ” นั่ง กรรมการ ป.ป.ช.

วันนี้ (8 มิ.ย.2563) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา กรณีที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระทุกองค์กร จะดำเนินการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานศาลปกครอง กับมีผู้แทนจากศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทุกองค์กร แต่จะไม่มีผู้แทนจากองค์กรอิสระ ที่จะมีการเลือกกรรมการขององค์กรอิสระนั้น เช่น การสรรหากรรมการ ปปช. ก็ไม่มีผู้แทนจาก ป.ป.ช. มาเป็นกรรมการ มีข้อยกเว้นเฉพาะการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีกรรมการจากองค์กรอิสระมาร่วมเป็นองค์ประกอบ

แต่จะมีผู้แทนจากองค์กรภาคประชาชน มาร่วมเป็นองค์ประกอบแทน สรุปได้ว่า ไม่มีกรรมการสรรหาที่มาจากวุฒิสภา และวุฒิสภาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งหรือเลือกกรรมการสรรหาแต่อย่างใด

ส่วนคณะกรรมการสรรหามีหน้าที่และอำนาจ ในการดำเนินการประกาศรับสมัคร กำหนดหลักเกณฑ์ในการรับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยกฎหมายกำหนดว่า ผู้สมัครที่จะได้รับการเสนอชื่อต้องได้คะแนนให้ความเห็นชอบ ด้วยมติไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนกรรมการสรรหา กระบวนการสรรหาดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้ใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน

ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการสรรหาลงมติ ได้รายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการองค์กรอิสระแล้ว อย่างเช่นในกรณีของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข มายังประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภา มีมติให้ความเห็นชอบ ทางปฏิบัติวุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และจริยธรรม ของบุคคลทั้งสอง

ส่วนในเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสอง เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 วรรคห้า บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาในเรื่องคุณสมบัติให้เป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้คณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภา จึงไม่ได้มีการยกเรื่องคุณสมบัตินี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในการวินิจฉัย

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคห้า เขียนไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจวุฒิสภาที่จะลบล้างคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญได้

ประธานวุฒิสภากล่าวว่า เพื่อให้กระบวนการ และขั้นตอนในการที่ประธานวุฒิสภาจะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความถูกต้องและมีข้อมูลรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวพอสมควร จึงเห็นควรขยายเวลาการลาออกจากตำแหน่งปัจจุบันของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ออกไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติจากองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยในประเด็นเรื่องดังกล่าว แล้วประธานวุฒิสภาจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนในชั้นนี้ของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง