จากกรณีสื่อต่างๆ และแถลงการณ์ของผู้เกี่ยวข้อง กล่าวอ้างว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมการเมืองชาวไทยที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ถูกกลุ่มบุคคลนำตัวขึ้นรถหายไปในขณะที่กำลังซื้อสินค้าที่หน้าอาคารที่พักในกรุงพนมเปญ และปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าข้อเท็จจริงเป็นประการใด แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีองค์กรต่างๆ ออกมารณรงค์เรียกร้องความยุติธรรม และเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าว
วันนี้ (8 มิ.ย.2563) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า นอกจากกรณีนายวันเฉลิมแล้ว ยังมีกรณีกล่าวอ้างว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทยที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศถูกบังคับให้สูญหายอีกหลายกรณี ได้แก่ 1) กรณีนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ กับพวกอีกสองคน คือ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ ได้หายตัวไปจากบ้านพักขณะที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 2) กรณีนายสยาม ธีรวุฒ กับพวกอีกสองคน คือ นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และนายกฤษณะ ทัพไท ถูกจับกุมที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและส่งตัวกลับมายังประเทศไทยแล้วไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด แต่กองบังคับการปราบปรามได้ยืนยันว่ายังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดทำการจับกุมตัวนายสยามมาส่งมอบแก่พนักงานสอบสวน
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และได้รับแจ้งเป็นการภายในว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้ามายังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามของนายสยามและพวกอีกสองคนแต่อย่างใด ในเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องแล้ว
นายวัส ย้ำว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของคนไทยในต่างประเทศ แต่เหตุการณ์ตามข้อกล่าวอ้างเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบได้ แต่สมควรดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง ดังนั้น จึงได้ขอความร่วมมือให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือพยานหลักฐาน เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบโดยทั่วกัน ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศอาจประสานกับครอบครัวของนายวันเฉลิมให้ส่งข้อมูลหรือพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงว่ามีการถูกบังคับให้สูญหายไปยังกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสม.มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ภายใต้เจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว พร้อมทั้งขอให้คณะรัฐมนตรีเร่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ด้วย เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันที่ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ประวิตร" ไม่ตอบ-ต่อสาย "เตีย บัณห์" เคลียร์ "วันเฉลิม" หายตัว
"รังสิมันต์" ชง กมธ.กฎหมายฯ เรียก ผบ.ตร.ชี้แจงปม "วันเฉลิม"
แอมเนสตี้ จี้กัมพูชาสืบสวนปม "วันเฉลิม" ถูกอุ้มหาย
"พ.ต.อ.กฤษณะ" ปัด ตร.เอี่ยว "วันเฉลิม" หายตัวในกัมพูชา