วันนี้ (9 มิ.ย.2563) นาดา ไชยจิตย์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nada Chaiyajit โดยระบุว่า วันนี้พ่อเมืองจันทบุรีนำทีม ประกาศใช้ข้อบังคับจังหวัดแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศแห่งแรก สิ่งที่เห็นอยู่นี้ คือผลงานจากคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ที่ร่วมผลักดันแนวปฏิบัติมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความทุ่มเทของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และเจ้าหน้าที่จากกองส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ก่อนหน้านี้ สภาพบังคับของมันเรียกได้ว่า แทบจะเป็นหมัน เบาเป็นขนนก จนแทบจะไม่เกิดการนำไปบังคับใช้ใดๆ เลย จนมาวันนี้เมื่อหัวขบวนเปลี่ยน...ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติตอบรับนโยบายผลักดันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ขอให้จันทบุรีนำร่องแล้วแพร่สะพัดไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย
นอกจากนี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนฯ ยังได้เผยแพร่ภาพประกาศจังหวัดเรื่อง ข้อปฏิบัติในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีลงนามในประกาศ โดยวางข้อบังคับด้านความเท่าเทียมทางเพศภายในจังหวัด 6 ข้อ ดังนี้
1.การแต่งกาย ให้บุคลากร สามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ หรือเพศภาวะของบุคคลตามข้อบังคับของหน่วยงาน
2.การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม จัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวยของบุคคล และอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล
3.การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน มีการระบุคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษา หรือความสามารถที่สอดคล้องกับลักษณะงาน ไม่ระบุเพศโดยกำเนิด หรือเพศสภาพ/เพศภาวะ
4.การใช้ถ้อย ภาษาและกิริยาท่าทาง และเอกสารต่างๆ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับคำศัพท์ที่เหมาะสมในการใช้เรียกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ รวมถึงเป็นการแสดงถึงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีของบุคคล
5.การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงาน ส่งเสริมให้มีการสรรหาบุคคลทั้งเพศชาย เพศหญิง หรือผู้แสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำหนดเข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับเพื่อพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมเสมอภาคอย่างแท้จริง
6.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดในการทำงาน