วันนี้ (19 มิ.ย.2563) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.) ส่งมอบหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเพื่อใช้ทางการแพทย์ 30 ชุด ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จากศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมกำพลอดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มก. วิทยาเขตกำแพงแสน หัวหน้าโครงการวิจัยหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถัง เพื่อใช้ในประเทศ กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยต่อเนื่องเป็นเฟส 2 หลังจากปี 2561 ทีมวิจัยได้นำยางพารามาพัฒนาเป็นหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถัง เพื่อใช้ในประเทศ แก้ปัญหายางพาราล้นตลาดและราคาตกตามมาตรการของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ
โดยพัฒนาร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ ออกแบบหน้ากากเพื่อเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารที่มีคุณภาพเทียบท่า Powered Air Purifying.Respirators (PAPR) สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผ่านการทดสอบมาตรฐาน NATO จากสาธารณรัฐเช็กแล้ว ไส้กรองอากาศมีมาตรฐานระดับสูงได้รับการรับรองจากเครือ NATO ภายใต้การสนับสนุนของชุดโครงการยางพารา ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกสว. และสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.)
ปกติหน้ากากฟูลเฟซแมสก์ จะใช้ซิลิโคลน ใยสังเคราะห์ แต่ปรับมาใช้ยางพารา เพื่อแก้ปัญหายางราคาตก ซึ่งมาจากพื้นฐานการวิจัยกับ สกสว.ฝ่ายยางพารา โดยทีมวิจัยได้พัฒนาสูตรยาง และได้ส่งไปทดสอบที่สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับจากกองทัพบก
ต่อมาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้งานวิจัยหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารจากยางพาราที่เกือบจะขึ้นหิ้งไปแล้ว แต่ได้กลับมาดำเนินการต่อโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ได้อนุมัติให้ มก.ผลิตได้ปีละ 20,000 ชุด โดยโรงพยาบาลต่างๆ ได้ร้องขอให้ผลิตเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความพร้อมทั้งวัสดุและงบประมาณจึงได้เริ่มดำเนินการผลิต
หน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารนี้ เป็นหน้ากากแบบเต็มหน้า มาตรฐานระดับสงครามเคมี ส่วนเชื้อโรคเป็นตัวต่ำสุด เนื่องจากมีขนาด 5 ไมครอน แต่หน้ากากนี้เป็นตัวท็อป ยืนยันว่า กันเชื้อโรคหรือ COVID-19 ได้่
ส่งชุดแรกช่วยหมอชายแดนใต้ รับคนจากตะวันออกกลาง
สำหรับหน้ากากประเภทนี้ มีลักษณะคล้ายกับหน้ากากทางการแพทย์ที่ใช้ในห้องไอซียู แตกต่างกันเฉพาะไส้กรองเท่านั้น ซึ่งทีมวิจัยได้ขอความร่วมมือจากสาธารณรัฐเช็ก ส่งไส้กรองกันเชื้อโรคที่มีน้ำหนักเบากว่าหน้ากากทางการทหาร มาสนับสนุนประมาณ 1,000 ชุด เพื่อแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ เบื้องต้น ได้ส่งมอบให้แก่ศูนย์อำนวยการแพทย์จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 30 ชุดก่อน เพราะเป็นพื้นที่ต้องการเร่งด่วน เนื่องจากต้องรองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออกกลาง
เริ่มต้นมาจากหน้ากากทางการทหาร ทำให้รูปลักษณ์อาจดุดัน แต่ทีมวิจัยได้ทดสอบกับแพทย์หลายโรงพยาบาล พบว่า สามารถใส่ปฏิบัติภารกิจได้ ไม่อึดอัด ด้วยน้ำหนักเพียง 300 กรัม ถือเป็นการนำงานวิจัยมาใช้ได้ทันที ในอนาคตอาจออกแบบให้ซอฟต์ขึ้น เปลี่ยนสีให้ความดุดันน้อยลง
ทั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น 1,000 ชุด และโรงพยาบาลรามาธิบดี 500 ชุด เริ่มประสานมาขออนุญาตถือครองหน้ากากป้องกันสารพิษจากกรมอุตสาหกรรมทหาร เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องมีใบอนุญาตถือครองเพราะเป็นยุทธภัณฑ์ โดยต้นทุนการผลิตหน้ากากชุดละ 8,000 บาท แต่หากนำเข้าจากต่างประเทศจะมีมูลค่ากว่า 30,000 บาท
หมอชอบคุณสมบัติช่วยสื่อสารง่ายขึ้น - หายใจสะดวก
พญ.ฐิติกานต์ วังอาภากุล แพทย์ศัลกรรมประสาท โรงพยาบาลยะลา เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น ถือว่าวิกฤต โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลยะลาต้องรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์บางคนก็ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วย
ขณะเดียวกันอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็มีอยู่อย่างจำกัด พยาบาลบางคนต้องสวมหน้ากากอนามัยนาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อได้ทราบว่าจะได้รับหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเพื่อใช้ทางการแพทย์ ก็รู้สึกดีใจมาก เพราะหวังว่าจะช่วยป้องกัน และแบ่งเบาการทำงานให้เจ้าหน้าที่บุคลากรการแพทย์ได้ต่อสู้กับ COVID-19 ทั้งปัจจุบัน และการรับมือโรคระบาดในอนาคต
หลังจากทดลองใส่แล้วชอบมาก ใช้ดี อากาศข้างในค่อนข้างเย็น ปกติใส่แมสก์ ถ้าลมหายใจระบายไม่ดีจะร้อน และอึดอัด แต่หน้ากากนี้เย็น และมีตัวแอมพลิไฟเออร์ ทำให้เสียงที่พูดออกมาแล้วดังขึ้น ทำให้สื่อสารกับคนไข้ได้ง่ายขึ้นด้วย