ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปฏิบัติการรวงผึ้ง 2020 ลดพื้นที่ทุ่นระเบิด จ.อุบลราชธานี

การเมือง
22 มิ.ย. 63
15:08
572
Logo Thai PBS
เปิดปฏิบัติการรวงผึ้ง 2020 ลดพื้นที่ทุ่นระเบิด จ.อุบลราชธานี
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เปิดปฏิบัติการรวงผึ้ง 2020 ปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ณ พื้นที่รวงผึ้ง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นสมรภูมิรบในอดีต เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนและสร้างความมั่นใจต่อนานาชาติ

วันนี้ (22 มิ.ย.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2563 พล.ท.สิทธิพล นิ่มนวล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วยคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการกองทัพไทย ได้มาตรวจเยี่ยมความพร้อมของชุดปฏิบัติการรวงผึ้งจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3)และ สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association : TDA) ซึ่งมีหัวข้อการตรวจดังนี้ ความพร้อมด้านร่างกายตลอดจนอุปกรณ์ของชุดปฏิบัติงาน การลงจอดเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่รวงผึ้ง การบรรทุกสัมภาระที่ใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ฯกับเฮลิคอปเตอร์ การติดต่อสื่อสารระหว่างเฮลิคอปเตอร์กับชุดปฏิบัติงาน และรับฟังการแถลงแผนการปฏิบัติของชุดปฏิบัติงานฯ ทั้งนี้ ผอ.ศทช.ฯ กล่าวให้โอวาทกำลังพลชุดปฏิบัติงานฯ

 

ณ ศูนย์พัฒนาพื้นที่ชายแดน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี สำหรับปฏิบัติการรวงผึ้ง 2020 เป็นภารกิจในการปฏิบัติงานการปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ณ พื้นที่รวงผึ้ง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นสมรภูมิรบในอดีตเนื่องจากประมาณปี พ.ศ.2528 กองกำลังต่างชาติได้ยึดภูมิประเทศที่สำคัญ คือ เนิน 500 ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศไทยและได้มีการสู้รบกันเกิดขึ้น จากการสู้รบดังกล่าวทำให้ยังคงเหลือทุ่นระเบิดในพื้นที่เป็นจำนวนมากส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้น

 

ในปัจจุบัน หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ในความรับผิดชอบของ กองพันทหารช่างที่ 6 กองพลทหารราบที่ 6 และสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association:TDA) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่อันตรายฯ ณ พื้นที่รวงผึ้ง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 30 พื้นที่ ขนาด 43.4 ตร.กม. คงเหลือพื้นที่อันตรายฯ จำนวน 11 พื้นที่ ขนาด 29.7 ตร.กม. ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากการเข้าถึงยากลำบาก พื้นที่เป็นภูเขาสูง อยู่ห่างไกล ไม่มีเส้นทางรถยนต์ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่ ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจอีกประมาณ 30 ล้านตารางเมตร โดยปฏิบัติการในพื้นที่ใช้เวลา 30 วัน (16 มิ.ย. – 16 ก.ค.63) และส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

 

สำหรับแนวทางในการปฏิบัติการเป็นการบูรณาการการปฏิบัติจากหลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ,หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ,สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือน ร่วมมือกับ กองทัพบกในการสนับสนุนอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) เพื่อนำเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ทำการ สำรวจ ตรวจค้น และองค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในพื้นที่

 

การบูรณาการในครั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติในการปฏิบัติภารกิจด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทย และจะนำไปสู่ความมั่นใจของพี่น้องประชาชนในการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างยั่งยืน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง