วันนี้ (24 มิ.ย.2563) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หมอแก้ว ผลิพัฒน์" เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 โดยระบุถึงภาพรวมเกี่ยวกับ COVID-19 ในระยะนี้มีเรื่องสำคัญประมาณ 5 เรื่อง ได้แก่
- ไทยยังมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วย COVID-19 ในประเทศไม่ช้าก็เร็ว แม้จะมีวัคซีนมาใช้แล้วก็จะมีการเกิดโรคในประเทศได้อยู่ดี และสุดท้าย COVID-19 มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้นเป้าหมายของคงจะไม่ใช่การทำให้ไม่พบผู้ป่วยเลยไปตลอดกาล เพราะเป็นเป้าหมายที่บรรลุได้ยากและต้องลงทุนสูง แต่ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์
การกลับมาพบผู้ป่วยใหม่เป็นจำนวนไม่มากนักและไม่รุนแรงจนถึงขั้นที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง จึงไม่ใช่ความล้มเหลว หรือเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องตื่นตระหนกแต่อย่างใด
- การควบคุมโรคต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว เพราะทุกประเทศต้องหาทางสายกลางของตัวเองให้พบ คือทำให้มีผู้ป่วยน้อยที่สุด ไม่เกินระดับที่รับได้และยังสามารถทำให้วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม สามารถเดินไปได้ หากปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงเกินไปจะกลับมามีผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในระยะสั้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ (ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย) ในระยะยาวอยู่ดี จึงไม่ควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียวจนถึงขั้นที่ยอมให้มีความสูญเสียสุขภาวะในระยะยาว
- การผ่อนปรนให้เปิดกิจการและธุรกิจโดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเสี่ยงต่อไป ที่ผ่านมาทำได้ดีมากแล้ว อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการผ่อนปรนกิจการและธุรกิจล้วนเป็นธุรกิจที่สำคัญและมีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก ยกเว้นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ความเป็นจริงหากมองในแง่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไทยยังกลับมาเปิดธุรกิจและกิจการที่ปิดไปแล้วได้ไม่มากนัก ส่วนในระยะต่อไปจะต้องมีสติ มีความเข้าใจ ค่อย ๆ ทยอยเปิดกิจการตามความจำเป็นและความเสี่ยงต่อไป และควรมีมาตรการทั้งด้านการป้องกันและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ย้ำอีกครั้งว่าโรงเรียนควรได้เปิดก่อนสถานบันเทิง
- สถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงไม่ใช่ตัวปัญหา ตราบใดที่สามารถทำให้สถานที่และธุรกิจดังกล่าวมีความเสี่ยงต่ำลงได้ ซึ่งต้องอาศัยทั้งความตั้งใจของทุกฝ่าย และความร่วมมือในระยะยาว ดังนั้น เจ้าของกิจการและภาคสาธารณสุขจะต้องออกข้อกำหนดสำหรับสถานที่หรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้เจ้าของกิจการและลูกค้าสามารถปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมต่อไป
- ในระยะนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดำเนินการเฝ้าระวังและการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องทำอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ถูกต้องตามหลักวิชาการ อย่างครอบคลุมและครบถ้วน เพื่อให้สามารถค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวก็ควรติดตามสถานการณ์และเหตุการณ์ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดด้วย