วันนี้ (27 มิ.ย.2563) จากกรณีเกิดเหตุฟ้าผ่าในหลายพื้นที่ของรัฐพิหารทางภาคตะวันออกและรัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 117 คน เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้ช่วงห่างระหว่างฤดูร้อนกับฤดูฝนยาวนานกว่าเดิมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟ้าผ่ามากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม : เศร้า! ฟ้าผ่า 2 รัฐใน "อินเดีย" เสียชีวิตแล้วกว่า 100 คน)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อินเดียต้องเผชิญกับความสูญเสียจากเหตุฟ้าผ่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2018 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยารัฐอานธรประเทศ รัฐทางตอนใต้ของอินเดียบันทึกเหตุการณ์ฟ้าผ่าได้จำนวน 36,749 ครั้งในเวลาเพียง 13 ชั่วโมง ขณะที่ปีเดียวกัน มีคนอินเดียเสียชีวิตจากเหตุฟ้าผ่ามากกว่า 2,300 คน
หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของรัฐ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ฟ้าผ่าเป็นเรื่องปกติในประเทศอินเดียช่วงฤดูมรสุม ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.ไปจนถึงเดือน ก.ย. ส่วนใหญ่เหตุการณ์ฟ้าผ่าจะเกิดขึ้นตามชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับฝนตกหนัก โดยในปี 2018 เกิดการก่อตัวของเมฆซึ่งปกคลุมไปทั่วพื้นที่เป็นระยะกว่า 200 กิโลเมตร ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองและฟ้าผ่ามากขึ้น
ทุกปีคนอินเดียเสียชีวิตจากฟ้าผ่าไม่น้อยกว่า 2,000 คน
ข้อมูลสำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งชาติอินเดีย (National Crime Records Bureau : NCRB) รายงานว่า ทุกปีอินเดียมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฟ้าผ่าอย่างน้อย 2,000 คน นับตั้งแต่ปี 2005 โดยยอดผู้เสียชีวิตจากฟ้าผ่าในแต่ละปีของอินเดียสูงกว่าประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฟ้าผ่าเฉลี่ยปีละ 27 คน
การขาดระบบเตือนภัยที่แม่นยำและเชื่อถือได้ มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเดียมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฟ้าผ่า นอกจากนี้ คนอินเดียจำนวนมากยังคงประกอบอาชีพที่ทำงานกลางแจ้งเป็นหลักจนกลายเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้ถูกฟ้าผ่าได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางการอินเดียได้พยายามพัฒนาและวางแผนการแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความใน WhatsApp และ Telegram และการประกาศทางโทรทัศน์-วิทยุ เพื่อเตือนให้ประชาชนอยู่ภายในบ้าน
แต่ความพยายามนั้นกลับล้มเหลว เพราะคนอินเดียจำนวนมากทำงานกลางทุ่งนาและไม่ได้พกพาโทรศัพท์ไปด้วย
ทั้งนี้ Royal Society for the Prevention of Accidents ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อความปลอดภัย เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ฟ้าผ่า
- หาที่กำบังภายในอาคารใหญ่หรือรถยนต์
- หลบจากพื้นที่โล่งกว้างและอยู่ห่างจากยอดเขาสูง
- หากไม่มีที่หลบภัยให้นั่งลงแล้วกอดเข่าไว้โดยก้มหัวให้ต่ำที่สุด
- อย่าหลบอยู่ใต้ต้นไม้
- หากคุณอยู่ในน้ำ ให้รีบขึ้นฝั่งให้เร็วที่สุด
ที่มา : Lightning kills more than 100 in northern India
India state records 36,749 lightning strikes in 13 hours