กรณีสำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ระบุมีการสอบสวนการนำเข้ายางรถยนต์จาก เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทยและเวียดนาม มูลค่ารวม 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขายในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า กรมได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกยางรถยนต์ถึงปัญหาดังกล่าวและตั้งทีมไทยแลนด์เพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหา ประกอบด้วยกรมการค้าต่างประเทศ ทูตพาณิชย์ประจำกรุงวอชิงตันดีซี และภาคเอกชน ซึ่งกระบวนการไต่สวนจะใช้เวลา 1 ปี โดยการจะพิจารณาว่าเข้าข่ายการทุ่มตลาดหรือไม่นั้น จะดูว่าราคาส่งออกต่ำกว่ามูลค่าปกติของสินค้าชนิดเดียวกันที่ขายภายในประเทศผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตเองหรือไม่หรือเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศนั้นหรือไม่ และหากเกิดความเสียหายจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากการทุ่มตลาด
หากไต่สวนแล้วพบว่า มีความผิดสหรัฐฯจะมีการเรียกเก็บภาษีตามอัตราการทุ่มตลาดของผู้ประกอบการแต่ละรายซึ่งจะไม่เท่ากัน โดยระหว่างนี้ไทยยังสามารถส่งออกได้ตามปกติ
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจาก ยูไนเต็ด สตีลเวิร์คเกอร์ ตัวแทนของโรงงานผลิตยางรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า ผู้ผลิตในประเทศมีสัดส่วนการตลาดน้อยลง กำไรลดลงและมีการปลดพนักงาน ทั้งที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากต่างประเทศปีละประมาณ 4,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย รองลงมาคือเกาหลีใต้ โดยผู้ผลิตยางรถยนต์ได้ลดราคาสินค้าเพื่อทุ่มตลาด เช่น เกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 43 - 195 ส่วนผู้ผลิตประเทศไทยลดลงร้อยละ 106 - 217.5
ก่อนหน้านี้ ยูไนเต็ด สตีลเวอร์ค เคยประสบความสำเร็จในการขอให้ศาลมีคำสั่งสอบสวนการนำเข้ายางรถยนต์จากประเทศจีนในปี 2558 และส่งผลให้การนำเข้าจากประเทศจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นการเปิดทางให้อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาขยายตัวมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปฎิเสธว่า ตัวเลขการลดราคาสินค้าของไทยยางรถยนต์ของไทยที่สูงกว่าสองร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นไม่เป็น ความจริง และมองว่าเห็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐนำเข้าสินค้ายางรถยนต์จากไทยสูง และขณะนี้ภาคเอกชนได้ตั้งทนายเพื่อไต่สวนตามกระบวนการแล้ว