วันนี้ (29 มิ.ย.63) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจปัญหาความเดือดร้อนของแรงงานข้ามชาติใน จ.สมุทรสาคร หลังพบอุปสรรคไม่สามารถหางานใหม่ได้แม้จะเข้าสู่มาตรการคลายคลายระยะ 4 เหตุเพราะนายจ้างไม่ออกใบเลิกจ้างให้
โซเอเอ แรงงานชาวเมียนมา อดีตลูกจ้างโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า รายได้วันละ 331 บาท กล่าวว่า ตนเองถูกเลิกจ้างมาประมาณ 3 เดือนแล้ว เนื่องจากโรงงานถูกสั่งปิดตามมาตรการควบคุมโรคไวรัส COVID-19 ซึ่งตามกฎหมายแรงงานข้ามชาติมีเวลา 15 วัน ในการหานายจ้างใหม่ทำให้ขณะนี้ขาดรายได้มาเป็นค่าใช้จ่าย ค่าเช่าห้องเดือนละ 1,700 บาท รวมถึงเงินที่ต้องส่งให้กับครอบครัวที่ประเทศเมียนมา
ขณะนี้ต้องดำรงชีพด้วยการอาศัยถุงยังชีพจากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ จึงต้องการให้นายจ้างออกใบเลิกจ้างพร้อมจ่ายเงินเยียวยาเพื่อจะได้กลับมามีอาชีพเลี้ยงดูตัวเอง ทั้งนี้โซเอเอพักอยู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่งและรวบรวมเงินได้ 1,040 บาทซึ่งเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่มีติดตัว และยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะสามารหาเงินได้อย่างไรเพราะไม่มีงานทำและไปสมัครงานที่อื่นก็ไม่มีคนรับเพราะนายจ้างไม่เซ็นใบเลิกจ้างงานให้ นอกจากนี้ได้ไปขอรับความช่วยเหลือกับหน่วยงานประกันสังคมสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ตกงานซึ่งผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้า
"ถ้ายังมีงานทำก็มีเงินสามารถเอามาใช้จ่าย และรู้ได้ว่าจะต้องบริหารเงินอย่างไร แต่ถ้าให้รอแต่เงินที่จะมีคนมาบริจาคให้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อยากมีงานทำจะได้ส่งเงินกลับไปให้ที่ทางบ้านช่วงเวลา 3 เดือนมานี้ไม่รู้ว่าทางบ้านคงลำบากมาก จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลแรงงานข้ามชาติบ้าง" โซเอเอ กล่าว
ด้านสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ระบุว่า ตามกฏหมายแรงงานหากนายจ้างไม่มอบใบแจ้งออกให้กับลูกจ้างตามระยะเวลาที่กำหนดถือว่ามีความผิดตามกฏหมาย แต่ที่ผ่านมากรมการจัดหางานให้ทางเครือข่ายไปเจรจากับผู้ประกอบการ ซึ่งมองว่าไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่จึงต้องการให้ทั้งผู้ประกอบการเห็นใจลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐเร่งรัดในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน
ปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร มีแรงข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนและจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคม ประมาน 300,000 คนโดยกลุ่มที่มีปัญหาคือ อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ จำนวน 200 คน เนื่องจากสินค้าได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จึงยังชะลอรับคนกลับเข้าไปทำงาน