ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หม่อมอุ๋ย" ระบุไม่ใช้มาตรการเงินชดเชย ช่วยชาวนากระทบเลื่อนทำนาปี-ครม.เศรษฐกิจเตรียมหารือพรุ่งนี้

เศรษฐกิจ
23 มิ.ย. 58
04:53
112
Logo Thai PBS
"หม่อมอุ๋ย" ระบุไม่ใช้มาตรการเงินชดเชย ช่วยชาวนากระทบเลื่อนทำนาปี-ครม.เศรษฐกิจเตรียมหารือพรุ่งนี้

"ปีติพงศ์" รมว.เกษตรฯ เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนทำนาปีเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ พรุ่งนี้ (24 มิ.ย.2558) หนุนปลูกพืชชนิดอื่นใช้ทุนจาก ธ.ก.ส. ด้าน "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร" ชี้จะไม่ใช้มาตรการชดเชยไร่ละ 1,000 บาท แต่จะใช้รูปแบบการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนการทำนาปีที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.2558) โดยจะไม่ใช่มาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่อยู่ในรูปแบบอื่น เช่น ช่วยต้นทุนการผลิตหรือการส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน และคงใช้งบประมาณไม่สูงมาก ซึ่งยังมีงบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพียงพอที่จะสนับสนุนมาตรการนี้

 
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจากผลสำรวจของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การมหาชน (จิสด้า)  พบว่าในขณะนี้พื้นที่การปลูกข้าวลุ่มเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 4 ล้านไร่ จากเดิมในวันที่กระทรวงเกษตรฯ ประกาศชะลอการปลูกข้าวมีพื้นที่ 3 ล้าน แสนไร่ ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 6 แสนไร่นี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียหายจากภัยแล้ง รวมทั้งอีกกว่า 2 ล้านไร่ ที่เหลือนั้นจะต้องชะลอปลูกอย่างเด็ดขาด ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวันพรุ่งนี้จะหารือถึงการสนับสนุนชาวนาภาคกลางที่ต้องการเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ให้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก ธ.ก.ส. เช่น การให้สินเชื่อเพื่อการดำรงชีพในขณะที่เปลี่ยนการปลูกพืชและให้พักการคิดดอกเบี้ยหนี้สินเดิมไปจนกว่าพืชชนิดใหม่จะให้ผลและสร้างรายได้

ส่วนสถานการณ์ปริมาณน้ำ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์น้ำทั้งฝนที่ตกในพื้นที่ภาคกลางและน้ำไหลลงเขื่อนไม่ดีขึ้น โดยมีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในหน้าฝนที่จะต้องมีวันละประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ภาพรวมการใช้น้ำในเขื่อนติดลบทุกวันวันละประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การทั้ง 4 เขื่อนรวมกัน 1,100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอใช้งาน 30 วันเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง