วันนี้ (2 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะทำงานแก้ปัญหาผลกระทบเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประชุมร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อชดเชยความเสี่ยงเศรษฐกิจจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงอาศัยการขับเคลื่อนในประเทศ โดยขอให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เร่งพิจารณาโครงการใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตาม พ.ร.ก.วงเงิน 4 แสนล้านบาท และให้ความสำคัญกับโครงการสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่นเป็นลำดับแรก เพื่อรองรับผู้ว่างงานกลับภูมิลำเนา
ขยายท่องเที่ยวเกษตร-ชุมชน
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง กำลังพิจารณาขยายผลจากมาตรการ "เที่ยวปันสุข" เพื่อให้ครอบคลุมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชุมชน โฮมสเตย์มากขึ้น ตลอดจนการพิจารณากลไกสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และสายการบินที่ไม่เข้าเงื่อนไขซอฟท์โลนของแบงก์ชาติ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยไม่ให้ธุรกิจกลายเป็นหนี้เสีย ซ้ำรอยเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งจะแก้ปัญหายากกว่า
ให้ธุรกิจ-สายการบินเข้าถึงซอฟท์โลน
ขณะที่นายอุตตม กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหารือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี หรือพีจีเอส ระยะที่ 9 ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการกำหนดวงเงินค้ำประกัน และกลไกสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อเกิน 500 ล้านบาท รวมทั้งสายการบินเข้าถึงแหล่งทุนเสริมสภาพคล่อง พร้อมกับหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ จากกำหนดเดิมจะสิ้นสุดในปลายเดือนกันยายน 2563 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปแนวทางดำเนินการและระยะเวลาที่เหมาะสม
นายอุตตม ยังสั่งให้กรมสรรพากรออกแบบมาตรการให้สอดคล้อง ต่อยอด หรือสนับสนุน โครงการเที่ยวปันสุข ซึ่งกำลังจะเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีกำลังซื้อออกมาจับจ่ายและท่องเที่ยวมากขึ้น อาจอยู่ในรูปแบบชิมช้อปใช้ หรือช้อปช่วยชาติ คาดว่าจะได้รูปแบบชัดเจนในกลางเดือนนี้ พร้อมย้ำว่าการดำเนินมาตรการรอบนี้ ไม่ได้หวังผลในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งรักษาการจ้างงานหลังสถานการณ์ COVID-19
จ่ายเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3 พันบาท
ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 กลุ่มเปราะบาง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กรมบัญชีกลาง เตรียมโอนเงินเยียวยาให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 1.2 ล้านคน ระหว่างวันที่ 4-7 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการจ่ายคราวเดียว 3,000 บาท ต่อคน 1 ครั้งเท่านั้น จากมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้จ่ายเงินเยียวยาคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
ส่วนการเปิดลงทะเบียนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน เนื่องจากต้องพิจารณาความเหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องคลี่คลาย ซึ่งเบื้องต้นจะปรับหลักเกณฑ์คุณสมบัติ โดยพิจารณาจากรายได้ครัวเรือน จากเดิมพิจารณารายได้ส่วนบุคคล พร้อมย้ำว่ากระทรวงการคลังยังคงดำเนินโครงการดังกล่าวต่อเนื่อง หลังได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วเกือบ 5 หมื่นล้านบาท