วันนี้ (3 ก.ค.2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงฤดูฝนมักพบ "ด้วงกระเบื้อง" เข้าไปภายในบ้าน สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้าน ซึ่งด้วงชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มแมลงปีกแข็ง มีขนาดลำตัวยาว 6 - 8 มม. มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลฟิโทเบียส ดิอะเพอรินัส บินได้ไกลพอสมควร ชอบบินมาเล่นไฟในเวลากลางคืน กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งเมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์จากพืชที่ชื้น หรือขึ้นรา รวมทั้งวัตถุที่เน่าเปื่อย มักเข้ามาอยู่บริเวณบ้าน หรือรอบๆ บ้านที่มีกองปุ๋ย มูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก เศษไม้ผุพัง เป็นป่า หรือมีเล้าเป็ดเล้าไก่
แมลงชนิดนี้ไม่มีรายงานว่าเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน แต่สามารถปล่อยสารจำพวกเบนโซควิโนน ออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู หากสัมผัสจะทำให้เกิดผื่นแดง แพ้ ปวดศีรษะ จมูกอักเสบ หากผู้ใดแพ้มากจะมีอาการคัน บวมแดง หรือเป็นผื่นแพ้ได้ โดยให้รีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ พยายามอย่าเกา ให้ทาด้วยยาคาลาไมน์ หรือทาด้วยยาปฏิชีวนะประเภทครีม
ส่วนการกำจัดด้วงกระเบื้อง ให้เตรียมน้ำละลายผงซักฟอกใส่ภาชนะนำไปวางไว้ใต้ดวงไฟนอกบ้าน เพื่อดักแมลงที่มาเล่นไฟให้จมน้ำตาย หรือฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงในกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น ไซฟลูทริน, เดลตามิทริน, ไซเพอร์เมทริน ตามบริเวณแหล่งเกาะพัก แหล่งเพาะพันธุ์นอกบ้าน จะทำให้แมลงตายได้ และไม่มาเกาะอีกป้องกันได้ 6 เดือน
ทั้งนี้ ข้อควรระวัง ควรใช้สารเคมีด้วยความระมัดระวัง เมื่อพ่นสารใหม่ๆ ไม่ควรให้คน หรือสัตว์เข้าในพื้นที่ จนกว่าสารจะแห้งดี และพ่นซ้ำได้อีก