84 สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทย
บมจ.การบินไทย นับเป็นหนึ่งในหลักทรัพย์ยอดนิยมของนักลงทุน หุ้นกู้การบินไทยถูกจัดอันดับเครดิจเรตติ้งในระดับ A มีรัฐบาลเป็นประกัน หุ้นกู้การบินไทยมีมูลค่า 71,600 ล้านบาท ผู้ลงทุนรายใหญ่คือสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ 84 แห่งที่ลงทุนรวม 45,160 ล้านบาท หรือร้อยละ 42 ของมูลค่าหุ้นกู้การบินไทยทั้งหมด ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่
หากดูจากรายชื่อ 84 แห่งนี้ อาจดูเหมือนว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ประเภทสาธารณสุขมีจำนวนสหกรณ์มาลงทุนมากที่สุด แต่เมื่อดูสัดส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์แต่ละประเภททั้งหมด พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ประเภทมหาวิทยาลัย ลงทุนในการบินไทยมากกว่าสหกรณ์ประเภทอื่น คือร้อยละ 24 ของสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยทั้งประเทศ (ไม่รวมชุมนุมสหกรณ์)
และยังมีมูลค่าการลงทุนสูง 12,286 ล้านบาท หรือร้อยละ 27 ของเงินที่ 84 สหกรณ์ลงทุนหุ้นกู้การบินไทย มากกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ประเภทอื่นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลการลงทุนของ สอ.มหาวิทยาลัย พบรายงาน 10 แห่ง รวมเงินลงทุน 11,357 ล้านบาท
สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัย 10 แห่ง ได้แก่
- สอ.มหาวิทยาลัยมหิดล (สอ.มม.)
- สอ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สอ.จฬ.)
- สอ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สอ.มก.)
- สอ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สอ.มธ.)
- สอ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สอ.มอ.)
- สอ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สอ.มศว)
- สอ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สอ.มช.)
- สอ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สอ.มจธ.)
- สอ.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (สอ.มสธ.)
- สอ.โรงพยาบาลทันตกรรมคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (สอ.ทต.มม.)
ภาพรวมขนาดสหกรณ์ออมทรัพย์
การจดทะเบียนสหกรณ์แบ่งเป็น 7 ประเภทหลัก ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์ประมง, สหกรณ์นิคม, สหกรณ์ร้านค้า, สหกรณ์บริการ, สหกรณ์ออมรัพย์, สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และสหกรณ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
จากสถิติสหกรณ์ทุกประเภทที่มีสถานะดำเนินงาน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 62 (ไม่รวมชุมนุมสหกรณ์) รวมกัน 6,670 แห่ง สมาชิกกว่า 11 ล้านคน ทุนดำเนินงาน 3.19 ล้านล้านบาท จากจำนวนนี้เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ 1,408 แห่ง สมาชิกมากถึง 3 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมด มีทุนดำเนินงาน 2.81 ล้านล้านบาท
โดยเกือบ 1 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัย 10 แห่งรวมกัน ซึ่งในนี้รวมถึงการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยด้วย
ภาพรวมการลงทุนของ 10 สอ.มหาวิทยาลัย
สอ.มหาวิทยาลัย 10 แห่งนี้ ลงทุนในรัฐวิสาหกิจและ 7 กลุ่มอุตสาหกรรม รวม 97,349 ล้านบาท โดย 3 อันดับเงินลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สอ.มหาวิทยาลัยมหิดล 35,922 ล้านบาท รองลงมาคือ สอ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17,519 ล้านบาท และ สอ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16,750 ล้านบาท
ภาพรวมมีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการมากที่สุด ในหมวดธุรกิจพาณิชย์ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเกือบทุกแห่งลงทุนกลุ่มนี้มากที่สุด ส่วนประเภทหลักทรัพย์ที่ลงทุนคือหุ้นกู้เป็นหลัก 77,106 ล้านบาท รองลงมาคือพันธบัตรรัฐบาล 17,536 ล้านบาท หุ้นในชุมนุมสหกรณ์ 1,772 ล้านบาท และหุ้นสามัญ 934 ล้านบาท
การลงทุน “หุ้นกู้” ของ สอ.มหาวิทยาลัย
เงินจาก สอ.มหาวิทยาลัย 77,106 ล้านบาทหมุนเวียนอยู่ในหุ้นกู้ 96 แห่ง เป็นบริษัทมหาชน 75 แห่ง* 71,784 ล้านบาท, บริษัทจำกัด 17 แห่ง 5,294 ล้านบาท และอื่นๆ 4 แห่ง 27,261 ล้านบาท
*บริษัทมหาชน 3 แห่ง ไม่มีการกระจายหุ้นแก่ประชาชน
นอกจากการลงทุนในรัฐวิสาหกิจหรือกลุ่มทุนต่างชาติแล้ว การลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเป็นของกลุ่มทุนธุรกิจครอบครัวไม่กี่ตระกูล อันดับ 1 คือกลุ่มทุนเจียรวนนท์ 19,039 ล้านบาท อันดับ 2 กลุ่มทุนสิริวัฒนภักดี 6,812 ล้านบาท อันดับ 3 กลุ่มทุนว่องกุศลกิจ-วัธนเวคิน-เอื้ออภิญญกุล 4,079 ล้านบาท
แต่เมื่อรวมการลงทุนโดย สอ.มหาวิทยาลัย ในกลุ่มทุนว่องกุศลกิจและพันธมิตรทางธุรกิจ จะพบว่ามีมูลค่ามากเป็นอันดับ 2 คือ 7,575 ล้านบาท
บริษัทที่มีถูกลงทุนมากที่สุด
- บมจ.ซีพีออลล์ 12,000 ล้านบาท (กลุ่มทุนเจียรวนนท์)
- บมจ.การบินไทย 11,000 ล้านบาท (กลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจ)
- บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส 5,000 ล้านบาท (กลุ่มทุนสัญชาติอินเดีย)
- บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ 3,000 ล้านบาท (กลุ่มทุนสิริวัฒนภักดี)
- บมจ.บ้านปู 4,000 ล้านบาท (กลุ่มทุนว่องกุศลกิจ-วัธนเวคิน-เอื้ออภิญญกุล)
การตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ แต่ละหลักทรัพย์ต้องมีรายชื่ออยู่ในบัญชีของกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีเครดิตเรตติ้งระดับ A ขึ้นไป สหกรณ์จึงมักลงทุนในหลักทรัพย์เดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจเดียวกัน แบบแผนการลงทุนของ สอ.มหาวิทยาลัย จึงอาจเป็นตัวแทนของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหมด
ทุนแสนล้านจาก 10 สอ.มหาวิทยาลัย และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย
นอกจาก สอ.มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะนำเงินไปลงทุนกับหลักทรัพย์ต่างๆ โดยตรงแล้ว ยังพบการนำเงินไปฝากกับสหกรณ์อื่นและชุมนุมสหกรณ์อีกหลายแห่ง เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ยั่วยวนใจ สูงกว่าสถาบันการเงินทั่วไป
โดยสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์เหล่านี้จะนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์เรตติ้งดีอีกทีหนึ่ง มักเป็นหลักทรัพย์เดียวกับที่ สอ.มหาวิทยาลัยลงทุนโดยตรง ทำให้ขนาดทุนใหญ่ขึ้นแต่ยังกระจุกตัวที่หลักทรัพย์ไม่กี่แห่ง
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย คืออันดับหนึ่งที่ สอ.มหาวิทยาลัยนำเงินไปฝากไว้มากที่สุดกว่า 13,000 ล้านบาท โดยเงินลงทุนของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย 34,924 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ สอ.มหาวิทยาลัยมหิดล และสูงกว่า สอ.มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้ง 9 แห่งที่มีทุนไม่เกิน 20,000 ล้านบาท
เมื่อรวมมูลค่าลงทุนของ 10 สอ.มหาวิทยาลัย และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะสูงถึง 132,274 ล้านบาท อัดฉีดหมุนเวียนในกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแก่สมาชิกสหกรณ์ เพราะจากข้อมูลพบว่าสหกรณ์ 15 แห่งที่ สอ.มหาวิทยาลัย ไปฝากเงินนั้นประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถคืนเงินฝากได้เมื่อทวงถาม และไม่สามารถให้ดอกเบี้ยได้เมื่อครบกำหนดเวลา เช่นชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทยที่มีคดีก่อนหน้านี้