การสำรวจที่ดินทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 21 ก.ค.นี้ มีความคืบหน้าไปมาก แต่สิ่งที่ภาคประชาชนกังวลคือ เกณฑ์กลางการตรวจสอบในระยะถัดไป ที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมในการตรวจสอบ
การตรวจสอบที่ดิน เกือบ 2,000 ไร่ ในหมู่บ้านดอนแท่น อ.เชียงกลาง จ.น่าน ที่ชาวบ้านร้องเรียนไปยัง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ. ว่ามีนายทุนออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ทับป่าสาธารณะ
เป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างปัญหาพิพาทที่ดินทำกิน และที่สาธารณะในเขตป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยการสำรวจที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่กำลังดำเนินการ น่าจะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายลง
นายระวี ถาวร เจ้าหน้าที่แผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า หรือ รีคอฟ เปิดเผยว่า จากการติดตามการสำรวจที่ดินทำกิน และ ที่อยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่มีกำหนดดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 21 ก.ค.นี้
ล่าสุดพบว่าคืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 80 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การตรวจสอบระยะที่สอง ทั้งการสำรวจที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ตามมาตรา 64 รวมทั้ง การสำรวจแนวเขตพื้นที่ป่าและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติตามมาตรา 65 ของ ซึ่ง จะดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากการสำรวจระยะแรกบางส่วนใช้หลักการที่ต่างกัน เช่น การกำหนดแนวเขตเป็นเขตพื้นที่ และการสำรวจตามพื้นที่จริง เกณท์กลางการตรวจสอบความถูกต้องในระยะต่อไป จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานที่นำไปอ้างอิง เพื่อความถูกต้อง และเป็นธรรม
ทั้งนี้ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กำลังจับตา การสำรวจที่ดินทำกิน และ ที่อยู่อาศัยในบางพื้นที่ ซึ่งมีความซับซ้อน อาทิ เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน รอยต่อจังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่ง มีรูปแบบการถือครองที่ดินที่หลากหลาย และ มีพื้นที่กว้างกว่า 2 แสนไร่