ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วราวุธ" สั่งเก็บลอบดักปลา-งัดม.17 คุ้มครองพื้นที่เกาะเต่า

สิ่งแวดล้อม
20 ก.ค. 63
11:03
2,130
Logo Thai PBS
"วราวุธ" สั่งเก็บลอบดักปลา-งัดม.17 คุ้มครองพื้นที่เกาะเต่า
"วราวุธ" เจอเองกับตาลอบอวนปลาวางดักปลาใหญ่ ใกล้แนวปะการังที่แหล่งดำน้ำชื่อดังของเกาะเต่า สั่งเก็บขึ้นจากทะเลทันที อธิบดีทช.ขานรับเตรียมประกาศมาตรา 17 พ.ร.บ.ทรัพยากรทางทะเลฯ คุ้มครองพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย ห้ามเครื่องมือประมง

วันนี้ (20 ก.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โพสต์เฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา สุดสัปดาห์นี้ ผมและครอบครัว มาดำน้ำที่เกาะเต่า เพื่อชมธรรมชาติใต้ทะเลเป็นของขวัญวันเกิดให้ตัวเองสักหน่อย แต่ก็มีเรื่องให้ต้องทำงานจนได้ครับ ระหว่างดำน้ำ ผมพบ"ลอบดักปลา"ซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาผิดกฏหมาย จึงได้ประสานงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาเก็บกู้ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานสืบหาเจ้าของต่อไป... ผมขอย้ำนะครับ การทำประมงด้วยเครื่องมือผิดกฏหมายเหล่านี้ ได้แก่ อวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ โพงพาง อวนล้อมจับที่มีขนาดช่องตาเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ลอบ อวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่า 5 เซนติเมตร มีโทษหนักจำคุก 5 ปี ปรับ 1-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางทช.ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าลอบดักปลาดังกล่าว ยังไม่เข้าข่ายประกาศเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่บางอวนมีขนาดใหญ่ 2-3 เมตรมีน้ำหนักมาก และมักจะนำไปทิ้งบนกองหินใกล้แนวปะการัง เพื่อดักปลาขนาดใหญ่ เช่น ปลานกแก้ว ปลาผีเสื้อ ปลาเก๋า ที่มักเข้ามาหากินใกล้แนวปะการังด้วย สุ่มเสี่ยงที่จะถูกพัดลงไปบนแนวปะการังจนเกิดความเสียหายได้ 

ภาพ:เฟซบุ๊ก TOP Varawut

ภาพ:เฟซบุ๊ก TOP Varawut

ภาพ:เฟซบุ๊ก TOP Varawut

งัดมาตรา 17 คุ้มครองเกาะชุมพร-หินใบ

นายโสภณ กล่าวอีกว่า ภายในสัปดาห์นี้จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวประมงและกลุ่มคนต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือไม่นำลอบดักปลามาวางใกล้แนวปะการัง เพราะถึงแม้จะไม่มีความผิดเพราะขนาดตาอ่วนยังไม่ได้อยู่ในข้อกำหนด แต่ระยะยาวจะมีผลต่อระบบนิเวศ เพราะปลาที่ถูกจับก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง และปะการังหากถูกมาวางทิ้งไว้จะหักเสียหาย 

เบื้องต้นมีการหารือกับนายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดี ทช.ว่า ในช่วงเร่งด่วนเพื่อป้องกันนำลอบดักปลามาวางใกล้แนวปะการัง จึงจะใช้มาตรา 17 พ.ร.บ.ทช.ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณเกาะชุมพร และหินใบ เพื่อห้ามเครื่องมือประมงลอบดักปลา รวมทั้งการถ่ายเทของเสีย

เปิดบทลงโทษตามมาตรา 17 พ.ร.บ.ทช.

ข้อมูลตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2560 กำหนดเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง มิได้ห้ามลอบปลาทำการประมง แต่ถ้าทำการประมงในแนวปะการังทำให้ปะการังแตกหักเสียหาย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ตามมาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะออกคำสั่งตามมาตรา 17 พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งจะกำหนดมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่พื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี เช่น ห้ามจอดเรือโดยการทิ้งสมอบริเวณปะการัง ห้ามให้อาหารสัตว์ ห้ามเก็บสัตว์น้ำในบริเวณแนวปะการัง ห้ามเก็บหรือทำลายปะการัง และเครื่องมือทำการประมงลอบปลา จะถูกกำหนดห้ามใช้ทำการประมงในแนวปะการังบริเวณแหล่งดำน้ำ กองหินต่างๆ ด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอความร่วมมือช่วยกันดูแลและรักษาปะการังต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง