วันนี้ (20 ก.ค.63) ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคประจำปี 63 ในหัวข้อ "ก้าวต่อไป...ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัฒน์" นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้ดี แต่เศรษฐกิจไทยทั้งปีอาจขยายตัวต่ำสุดในภูมิภาคเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวและส่งออกซึ่งยังคงประสบปัญหาการระบาด กระทบห่วงโซ่การผลิตและกำลังซื้อแต่เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 คือ จุดต่ำสุดแล้วและค่อย ๆ ฟื้นตัวในลักษณะคล้ายเครื่องหมายถูกหางยาวจนอยู่ในระดับก่อนวิกฤต COVID-19 ในช่วงปลายปี 64
ทั้งนี้ ไทยยังคงมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ จึงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีกว่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ
แต่ยอมรับ ภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบช้า ๆ จะกระทบบัณฑิตจบใหม่จะประสบปัญหาการหางานยากในระยะ 2 - 3 ปีข้างหน้า และวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น ควรใช้เป็นโอกาสปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบ New normal หรือ "โควิดภิวัฒน์" สร้างความเข้มแข็งสู่ท้องถิ่นโดยใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ขยายเวลาพระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอี หรือ (SoftLoan) วงเงิน 5 แสนล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดในเดือน ต.ค.63 เป็นสิ้นปี 64 พร้อมกับกระทรวงการคลังขยายโครงการ PSG เพื่อให้ บสย.ขยายเวลาค้ำประกันสินเชื่อจากเดิม 2 ปี เพื่อบรรเทาความเสี่ยงปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นสัญญาระยะยาวมากขึ้น
ส่วนผลกระทบจากการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์นั้น นายวิรไท กล่าวว่า แบงก์ชาติยังคงสนับสนุนให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากแบบพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นพักหนี้แบบเฉพาะเจาะจงเพื่อไม่ให้กระทบเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน หลังเห็นสัญญาณความสามารถในการชำระหนี้แบบปกติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนปัญหาเงินทุนไหลออกและค่าเงินบาทอ่อน มาจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ หลังนักลงทุนกังวลปัญหาเศรษฐกิจไทยและความเสี่ยงการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ปฏิเสธแสดงความเห็นการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล