วันนี้ (21 ก.ค.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าวันที่ 23 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อหารือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ- รังสิต และตลิ่งชัน- บางซื่อ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาดูในส่วนของกรอบระยะเวลาของทั้ง 2 หน่วยงานที่ไม่ตรงกัน โดยในส่วนของ รฟท.จะเปิดให้บริการปี 2566 ขณะที่กรมราง ได้รายงานว่าสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนปี 2566
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงความเห็นของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. ว่า เคารพความเห็นและต้องดูรายละเอียด โดยมอบหมายให้นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. และคณะกรรมการ บอร์ด ไปทำความเข้าใจว่า ให้แสดงข้อมูลมาว่าที่พร้อมจะบริหารแบบใด อย่างไร จะมีตัวชีวัด (KPI) อย่างไร ยืนยันว่าไม่มีธง แต่ต้องอยู่ในกรอบภาระงบประมาณที่มีข้อจำกัด เพราะผูกพันกันมานานตั้งแต่ปี 2555 มีการขยายมาเรื่อย ๆ หากไม่ใช้วิธีนี้อาจจะไม่มีข้อยุติ
เรื่องเวลาอาจจะไปบวกกันผิด อาจจะเป็นที่ผมเอ่อเร่อเองก็ได้ ผมยอมรับ ก็ดีเพราะจะได้รับฟังความคิดเห็น ตอนนี้ชาวบ้านมีความต้องการอยากใช้มาก โดยหลักของเราถ้าพร้อมทุกมิติก็ทำ ถ้าไม่พร้อมทุกมิติก็ต้องแก้ไขให้จบ ส่วนใครจะมาวิ่งให้บริการก็ต้องดูความพร้อม หากรถไฟวิ่งเองมีประสิทธิภาพมีความพร้อมแล้วตอบโจทย์เรื่องค่าโดยสาร ที่รัฐไม่ต้องมาอุ้ม ก็ไม่มีปัญหา
สหภาพฯ ค้านลงทุนแบบ PPP
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงข่าวพร้อมสมาชิกสหภาพฯ และผู้บริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ยืนยัน คัดค้านแนวทางที่จะนำเอกชนเข้ามาร่วมทุนแบบ PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน และขอให้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เดิม ที่ให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ในปัจจุบัน เป็นผู้บริหารงานเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงดังกล่าว เนื่องจากมีการอบรมเตรียมความพร้อมของบุคลากรไว้แล้ว
หวั่นค่ารถไฟฟ้าแพงสุดในโลก
หากมีการนำเอกชนเข้ามาบริหารเดินรถสายสีแดง จะทำให้เอกชนกินรวบเส้นทางและเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ในช่วงที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีผลศึกษาระบุชัดเจนว่า ค่าบริการรถไฟฟ้าของไทยที่มีเอกชนบริหารการเดินรถ เป็นค่ารถไฟฟ้าที่สูงที่สุดในโลก และมีตัวอย่างให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลเจรจาขอให้ผู้ประกอบการลดค่าโดยสาร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทางให้แก่ประชาชน ก็ทำได้ยากมาก
ส่วนคำถามว่าที่ผ่านมา การบริหารงานของการรถไฟฯ ประสบผลขาดทุนมาก ทำให้ประชาชนมีความวิตก หากการรถไฟฯ หรือบริษัทลูกของการรถไฟ เข้ามาบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงจะทำให้เกิดปัญหาการขาดทุนซ้ำขึ้นอีกนั้น นายสาวิทย์ กล่าวว่า ต้องการให้ทบทวนว่าการขาดทุนของการรถไฟฯ มาจากภาระการคิดราคาค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนเพื่อดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการ และเมื่อมีผลขาดทุนสะสมก็ต้องมีการจัดหาเงินกู้มาจ่ายดอกเบี้ย ทำให้เป็นยอดขาดทุนสะสมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แนวทางของสหภาพฯ เห็นว่าหากหน่วยงานภาครัฐจะขาดทุนเพื่อดูแลผลประโยชน์และการเข้าถึงบริการของประชาชนก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ขอให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นต้นเหตุของการขาดทุน
ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริหารการเดินรถก่อน 5 ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว หากยังเกิดผลขาดทุนอีก ในส่วนนี้ทั้งสหภาพฯ และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก็พร้อมถอนตัว
ยันเปิดให้บริการปลายปี 64
ส่วนประเด็นเรื่องความล่าช้าของโครงการนั้น จากข้อมูลพบว่างานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นมีความล่าช้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยโครงการจะยังสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2564 ไม่มีการเลื่อนเปิดโครงการไปเป็นปี 2566 แต่อย่างใด
ด้านนายชิตพล พรหมดนตรี ประธานสหภาพแรงงานฯ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (สร.รฟฟ. ) กล่าวว่าที่ผ่านมา บริษัทฯ เตรียมความพร้อมฝึกอบรมพนักงานเพื่อเข้ารับผิดชอบการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้แล้ว แต่ต้นปีที่ผ่านมาต้องชะลอการฝึกอบรมออกไป หลังมีสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ยืนยันว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการ บุคลากรของบริษัทจะมีความพร้อมแน่นอน อย่างไรก็ตาม หลังจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการดึงเอกชนร่วมทุนเดินรถแบบ PPP ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการที่จะเข้าบริหารโครงการขึ้น อาจเกิดปัญหาสมองไหลออกจากองค์กรของบริษัทฯ ไปสู่ภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเดินรถไฟฟ้า