ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมอุทยานฯ ลั่นไม่คิดปล่อย "เสือโคร่งกรงเลี้ยง" คืนสู่ป่า

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ค. 63
16:33
1,000
Logo Thai PBS
กรมอุทยานฯ ลั่นไม่คิดปล่อย "เสือโคร่งกรงเลี้ยง" คืนสู่ป่า
กรมอุทยานฯ ยืนยันไม่มีแนวคิดปล่อย "เสือโคร่ง" จากกรงเลี้ยงคืนป่าธรรมชาติ ชี้ไร้สัญชาติญาณสัตว์ป่า ระบุในธรรมชาติยังมีประชากรเพิ่มขึ้น ส่วนเสือของกลางวัดป่าหลวงตาบัว จ.กาญจนบุรี ป่วยเหลือรอดแค่ 51 ตัว ผลพิสูจน์พันธุกรรมพบผสมพันธุ์กันจนเลือดชิดอ่อนแอ

วันนี้ (23 ก.ค.2563) นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แถลงข่าวการจัดกงานวันเสือโคร่งโลกประจำปี 2563 ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ก.ค.ของทุกปี โดยภาพรวมสถานการณ์เสือโคร่งในผืนป่าของไทยในปัจจุบัน พบประชากรเสือโคร่งประมาณ 130-160 ตัว ส่วนใหญ่เป็นเสือโคร่งมากที่สุดบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง โดยปี 2553 พบประชากรเสือโคร่งประมาณ 41 และปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 79 ตัว ในระยะเวลาช่วง 10 ปี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าตะวันตก รวมทั้งกลุ่มป่าเขาเขียว ที่มีประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้น

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเสือโคร่ง เกิดจากการป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของเสือโคร่ง การป้องกันลักลอบการล่าด้วยการเดินลาดตะเวนเชิงคุณภาพ และนโยบายการอนุรักษ์โคร่ง และประชาชนที่เข้ามาสนับสนุน ทำให้ไทยได้รับการยอมรับเป็นประเทศผู้นำของการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับโลก

มั่นใจว่าขณะนี้ควบคุมปัญหาการลักลอบล่า และค้าเสือจากธรรมชาติได้แล้ว เรื่องนี้เป็นผลจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ขณะเดียวกันพล.อ.ประวัตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ยังกำชับเรื่องโครงการสร้างถนนตัดผ่านป่า เพราะต้องคำนึงถึงบ้านของสัตว์ป่า

ไม่นำเสือกรงเลี้ยงปล่อยคืนป่า

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวถึงกรณีข่าวจะนำเสือจากกรงเลี้ยงไปคืนสู่ธรรมชาติ โดยยืนยันว่ากรมอุทยานฯไม่มีแนวคิดนี้ เพราะประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติยังมีการขยายพันธุ์ได้ดี พบลูกเสือเกิดใหม่หลายพื้นที่ การที่เสือเพิ่มหมายถึงป่าสมบูรณ์ และมีเหยื่อของเสือเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องนำเสือจากกรงเลี้ยงไปปล่อยขยายพันธุ์ในป่า

เสือในกรงเลี้ยงไม่สามารถนำไปปล่อยคืนสู่ป่าได้ เพราะอาหารที่กินในกรงเป็นของที่ตายแล้ว ส่วนเสือในป่า เมื่อเกิดมา 2-3 ปียังต้องอยู่กับแม่เพื่อฝึกสัญชาติญาณ หากนำไปปล่อยจะเป็นภาระและเกิดปัญหาตามมา ที่ยั่งยืนที่สุดคือทำให้ถิ่นอาศัยสมบูรณ์ และเสืออยู่ได้

อ่านข่าวเพิ่ม "เสือโคร่ง" ของกลางป่วยหัดสุนัข-อัมพาตลิ้นกล่องเสียงตาย 86 ตัว

เสือวัดหลวงตาบัว เหลือรอดแค่ 51 ตัวพบเลือดชิด

นายสมปอง กล่าวถึงกรณีเสือโคร่งของกลางวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ซึ่งหลังจากกรมอุทยานฯนำเสือโคร่ง 147 ตัวไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน และเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ตั้งแต่ปี 2559 และช่วงปลายปี 2562 พบเสือเริ่มตายจากปัญหาโรคหัดสุนัขและอัมพาตลิ้นกล่องเสียงในเสือตายไปเหลือเสือของกลาง จำนวน 51 ตัว หรือคิดเป็นร้อยละ 60-70% สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะเสือเกิดจากพ่อแม่ที่สายเลือดชิดเกินไปทำให้เกิดความอ่อนแอ

จาการการเก็บพันธุกรรมของเสือของกลาง และพิสูจน์หาความเป็นพ่อแม่ลูก ทำให้พบว่าเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกัน ขณะนี้มีการทำผังพันธุกรรมของเสือทั้งหมดแล้ว 

 

ทั้งนี้ผลการตรวจพิสูจน์พันธุกรรม ความสัมพันธ์พ่อแม่ลูก กรณีเสือโคร่งวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ซึ่งจัดทำโดยทีมนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ พบว่าในปี 2542-2543 มีเสือพ่อแม่พันธุ์เพียง 7 ตัว ต่อมาปี 2546-2550 มีการขยายพันธุ์เสือโคร่งรุ่นที่ 2 อีก 11 ตัว และเสือโคร่งรุ่นที่ 3 ระหว่างปี 2551-2559 จำนวน 103 ตัว 

สำหรับการจัดงานวันเสือโคร่งโลกปี 2563 กรมอุทยานฯ ร่วมกับ 6 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดงานวันเสือโคร่งโลก ภายใต้แนวคิด "ป่าไทยไม่ไร้เสือ Road for Thai Tigers" ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค - 2 ส.ค.นี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี! เจอตัวครั้งแรกเสือโคร่งตัวผู้ตั้งชื่อ "สลักพระไทเกอร์ 001"

ย้อนเส้นทางเสือโคร่งของกลาง 147 ตัว

แกะรอยเส้นทางแพร่ "โรคหัดสุนัข" ภัยเงียบคร่าเสือ 86 ชีวิต

เฝ้าระวังเสือโคร่ง 44 ตัว "เครียด-เลือดชิด-ติดโรค" เสี่ยงตายเพิ่ม

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง