ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชู "อ่าวมะนาว" ท่องเที่ยวต้นแบบปลอด "บุหรี่ - เหล้า - ไวรัส"

สังคม
28 ก.ค. 63
13:03
711
Logo Thai PBS
ชู "อ่าวมะนาว" ท่องเที่ยวต้นแบบปลอด "บุหรี่ - เหล้า - ไวรัส"
กองบิน 5 ร่วมกับ สสส. จัดโครงการชู "อ่าวมะนาว" เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ปลอดภัยถูกกฎ ลดเสี่ยง บุหรี่ สุรา และ COVID-19 หลังผลวิจัยชี้ บุหรี่และสุรา เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในปอดและเป็นเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

วันนี้ (28 ก.ค.2563) นาวาอากาศเอกชยศว์ สวรรค์สรรค์ ผู้บังคับการกองบิน 5 เปิดเผยว่า บุคลากรกองบิน 5 พร้อมครอบครัวและประชาชนโดยรอบเข้าร่วมโครงการ "อ่าวมะนาว ปลอดภัยถูกกฎ ลดเสี่ยง(โควิด เหล้า บุหรี่)" เพื่อพัฒนาสมรรถนะ และความรู้เรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ในความดูแลของกองบิน 5 อ่าวมะนาว ให้เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยงของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ การห้ามจำหน่ายเหล้า บุหรี่ ภายในพื้นที่อาคาร โรงแรมที่พักทั้งหมด ยกเว้นการบริการในมินิบาร์ และพื้นที่เขาล้อมหมวก และจะการรณรงค์ห้ามดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ชายหาด สนามกอล์ฟ โดยจะลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

กองบิน 5 อ่าวมะนาวกองทัพอากาศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ดังนั้นคุณภาพชีวิต สุขภาพของคนในพื้นที่ ต้องปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งโครงการนี้ฯ จะช่วยให้บุคลากรและครอบครัวในกองบิน 5 ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ลดพฤติกรรมการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และหวังว่าอ่าวมะนาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวปลอดภัย

ด้านนายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เชิญชวนทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ “ชีวิตวิถีใหม่” (New Normal) นอกจากการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ แล้ว การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยข้อมูลวิชาการยืนยันว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่มีประวัติสูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า มีโอกาสป่วยหนักกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในปอด 2.9 เท่า


การดำเนินโครงการนี้จะกระตุ้นให้คนไทยปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง และลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งโรค NCDs มีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยง 4 ปัจจัย ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม และไม่ออกกำลังกาย

ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า ไทยมีประชากร 6.4 ล้านคน มีพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มสุรา ในจำนวนนี้เป็นผู้สูบบุหรี่เป็นประจำและดื่มสุราอย่างสม่ำเสมอสูงถึง 3.8 ล้านคน ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำซ้อน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยสูงที่จะป่วยด้วยโรค NCDs และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นผู้ป่วยติดเตียง ดังนั้น สสส. จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนตั้งเป้าหมาย และลงมือสร้างสุขภาวะที่ดีให้ตัวเองและสังคม ด้วยการเลิกสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เพราะพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้ว ยังก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกด้วย


ขณะที่ ผศ.เกศรา สุกเพชร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภาคบริการและการท่องเที่ยว คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บอกว่า วิกฤต COVID-19 ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวคำนึงถึงความปลอดภัยในทุกมิติ จากข้อมูลการพยากรณ์ของกสิกรไทย พบว่า คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะติดลบมากกว่าร้อยละ 60 นักท่องเที่ยวไทยอาจหดตัว ร้อยละ 52.3 โดยนักท่องเที่ยวยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 รวมถึงผลกระทบจากความเชื่อมั่นต่อการมีงานทำ และกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชน ซึ่งกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวระดับบน จะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นการท่องเที่ยวยุคหลัง COVID-19 ต้องให้ความสำคัญทั้งเรื่อง safety & security และเรื่อง Hygiene & Healthy อย่างมาก

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง