ม้วันนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อใน จ.ชลบุรี ไม่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ต่อเนื่อง 97 วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.63) แต่สำหรับพัทยาแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่เคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 20 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นต่างชาติ 90% และแม้รัฐจะเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ มาตั้งแต่ เดือน พ.ค 63 แต่ผู้ประกอบการพัทยาก็ยังต้องปรับตัวครั้งใหญ่เช่นกัน
ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ "นายพิสุทธิ์ แซ่คู" นายกสมาคมโรงแรมไทยภาตะวันออก ที่ขณะนี้มองปรากฎการณ์พัทยาว่า อยู่ในขั้นประคองตัว
ทิศทางพัทยา จนถึงขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังกลับมาเที่ยวไม่ได้แล้วผู้ประกอบการ ภาคโรงแรมท่องเที่ยวปรับตัวอย่างไรกันบ้าง
สถานการณ์พัทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 เป็นต้นมา โรงแรม, ร้านอาหาร, แหล่งท่องเที่ยวพัทยา ทยอยเปิดแล้ว 80% ส่วนเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาววันอาสาฬหบูชา มีนักท่องเที่ยวใช้บริการห้องพักในพัทยา กว่า 80 - 90% ของจำนวนห้องพัก ที่มีในพัทยาทั้งหมด เกือบ 200,000 ห้อง รวมถึงช่วงหยุดยาวล่าสุด (วันที่ 25 - 28 ก.ค.63) นักท่องเที่ยวไทยนิยมมาเที่ยวพัทยาคึกคักหนาตาพอสมควร ราว ๆ 90% แต่หลังจากนั้น ในวันธรรมดาก็แทบไม่มีลูกค้าเหลือนักท่องเที่ยวอยู่ประมาณ 10 - 20% เท่านั้น ในช่วงวันปกติ
บรรยากาศในพัทยา หลังพ้นวิกฤต COVID-19 ประเภทกิจการโรงแรม เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ทยอยเปิด เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเพิ่งสิ้นสุด เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63 ตามด้วยกลุ่มกิจการร้านอาหาร และกลุ่มสุดท้ายที่ทยอยเปิด คือ กลุ่มสถานบันเทิงซึ่งเป็นกลุ่มที่มีร้านจำนวนมากในพัทยา
มาถึงวันนี้ พัทยาซบเซาตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.63 และเจอปิดกิจการต่างๆ ชั่วคราวอีกกว่า 3 เดือนเต็ม ตอนนี้ผ่านไป 6 เดือนแล้ว ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวพัทยาหลังจากนี้ไว้อย่างไร
ที่ผ่านมาปกติพัทยารับนักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 80 - 90% ตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา แทบไม่เคยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย ถ้าให้พัทยาคึกคักตามปกติ ก็ต้องรอนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาและเข้าใจว่า ทางรัฐบาลกำลังศึกษาผลดี-เสีย จับคู่ประเทศเพื่อให้ท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ แบบ ทราเวลบับเบิ้ล (Travel Bubble) ซึ่งถ้าเป็นไปได้ ภาคท่องเที่ยวหวังว่า รัฐบาลอาจปลดล็อกให้บางประเทศทยอยเข้าไทยได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้หวังว่าต้องเปิดประเทศแล้วให้กลับมาพร้อมกันหมด เพราะแม้เราจะอยากให้นักท่องเที่ยวกลับมาเพียงใด แต่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อหลายประเทศยังไม่นิ่ง และบางประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงอยู่ เราก็ยังเป็นกังวล เพราะถ้ามีการติดเชื้อ COVID-19 ในไทยระลอก 2 ภาคการท่องเที่ยวและบริการจะลำบากมากเรียกว่าช้าแต่ชัวร์ดีกว่า ณ สถานการณ์ตอนนี้
ตอนนี้ พัทยา จึงต้องหันมารับนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักไปก่อน ?
ครับ นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวกันแบบเฉพาะสุดสัปดาห์ หรือ เฉลี่ย 1 เดือน เที่ยวกัน 8 วัน ส่วนวันธรรมดาก็ไม่มีนักท่องเที่ยว ซึ่งถามว่าอยู่ได้ไหม ตอบเลยว่า อยู่ไม่ได้ ผลประกอบการติดลบ
แต่ได้ยินมาว่า รัฐบาลมีแนวคิดส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดสัมมนาวันธรรมดาเพื่อกระตุ้นภาคโรงแรมและบริการ หากรัฐบาลเคาะมาตรการส่งเสริมนี้ชัดเจนและมีงบประมาณพอจะจัดสัมมนา ก็อาจจะช่วยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวได้อีกทาง รวมถึงมาตรการส่งเสริมให้ท่องเที่ยวในวันธรรมดา ไม่ใช่วันหยุด ก็นับเป็นมาตรการที่ดีอีกทางในระหว่าง ที่ภาคการท่องเที่ยวเจอวิกฤต และประเมินกันว่า กว่าจะกลับมาปกติได้ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี
ในพัทยามีธุรกิจบริการกิจการหลายประเภท ตอนนี้กิจการไหนคึกคักสุด
ร้านอาหารครับ โดยเฉพาะหลังจากคลายล็อก ให้ครอบครัวเดียวกัน นั่งร่วมโต๊ะกันได้ ซึ่งผลต่อที่พักโรงแรมด้วย หลาย ๆ ธุรกิจในพัทยามีการปรับตัวรับนักท่องเที่ยวไทย ทั้งการปรับราคาให้คนไทยเที่ยวได้ รับราคาได้ ทั้งราคาอาหาร และ ราคาที่พัก ก็ปรับราคา ปรับเมนู ปรับรสชาติ ให้เหมาะกับคนไทยมากขึ้น
มองธุรกิจคึกคักไปแล้ว ในทางกลับกัน ธุรกิจไหนในพัทยา ที่น่าจะยังเจ็บตัวตอนนี้
กลุ่มสถานบันเทิงครับ แน่นอนว่า แม้มีมาตรการปลดล็อก แต่กลุ่มเป้าหมายหลัก ยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการจัดร้านของกลุ่มนี้ที่ผ่านมาจะเป็นคนละสไตล์กับการรองรับกลุ่มคนไทย และจนถึงขณะนี้ หลายร้านยังไม่เปิดให้บริการและหลายร้านต้องปรับตัว ปรับจากสถานบันเทิงไปเป็นร้านอาหารแทน เพื่อให้เข้ากับการรองรับกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น
ช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 ราว ๆ เดือน มี.ค. - เม.ย.63 เราเคยเจอกันและคุณพิสุทธิ์เคยวิเคราะห์สถานการณ์ท่องเที่ยวขณะนั้นว่า พัทยาอาจกลับมาค่อย ๆ ฟื้นได้ช่วงเดือน ต.ค.63 มาถึงวันนี้ (ก.ค.) การฟื้นตัวยังคิดว่าคงเดิมหรือไม่
จริง ๆ ผู้ประกอบการพัทยา ประเมินกันว่า ยังอยู่ในกรอบนั้นคาดหวังว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติชุดแรก น่าจะกลับมาได้ ต.ค.63 ซึ่งมาตรการเศรษฐกิจ คิดรัฐบาลคงอยากให้ฟื้นโดยเร็ว แต่สำหรับผู้ประกอบการพัทยาแล้ว น่าจะประมาณ ต.ค.63 ขณะนี้ภาคธุรกิจก็อยู่ในช่วงประคองตัวไปก่อน แต่ถ้าจะบอกว่าอยู่ในขั้นเริ่มเห็นแสงสว่างได้จริง ๆ ก็น่าจะช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีหน้า (2564) และช่วงนั้น อาจยังไม่ใช่กลุ่มทัวร์เป็นคณะใหญ่แต่จะเป็นกลุ่มแบ็กแพ็กของนักท่องเที่ยวจีน ที่จะเข้าไทยก่อน
วิเคราะห์หรือไม่ว่า กลุ่มทัวร์คณะใหญ่จากต่างชาติ จะเริ่มเข้ามาพัทยาได้เมื่อไหร่
(หัวเราะ) ไม่กล้าคิดเลยครับ ไม่กล้าคิด ผมว่ามันขึ้นกับปัจจัย วัคซีนป้องกัน COVID-19 เป็นหลักด้วย เรามองภาพว่า ต.ค.63 นี้ น่าจะชาวต่างชาติเข้าไทยได้ แต่อาจเป็นกลุ่มนักธุรกิจเป็นหลักก่อน หลังจากนั้นปลายปีอาจมีผ่อนปรนให้บางประเทศเข้ามาได้ และ ตรุษจีน 64 ก็มีเทศกาลตรุษจีน ก็ผ่อนปรนกันไปเรื่อย ๆ แต่การ์ดของไทยต้องไม่ตกด้วยครับ และต้องมีมาตรการป้องกันที่ดี
ปกติปลายปีทุก ๆ ปี สถานการณ์ท่องเที่ยวจะเป็นกลุ่มยุโรปซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวในพัทยาแต่ปีนี้ประเมินอย่างไร
(หัวเราะ) ตอนนี้เราดูตัวเลข อย่างพัทยา ปลายปีจะมีนักท่องเที่ยวปกติ จากยุโรป เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย แต่ล่าสุดติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 รัสเซีย ยังเยอะมาก และตลาดหลักอีกกลุ่ม คือ อินเดีย ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อCOVID-19 โดย 1 ใน 5 ประเทศ หรือ 10 ประเทศ เป็นลูกค้าหลักของพัทยาทั้งนั้น จริง ๆ เราทำใจไว้แล้ว และเคยมีการถามเล่น ๆ ว่า ถ้ารัสเซียจะเข้ามาปลายปี ซึ่งถ้าถามเขา เขาเองก็อยากเข้ามาในไทย เพราะเขาจะหนีหนาวมา แต่ก็ต้องมาถามคนของเรา ถามคนไทยว่า เราพร้อมหรือเปล่า
ถ้าถามผม ผมว่ายังก่อนดีไหม เพราะเราเพิ่งเริ่มหายใจ สภาพการท่องเที่ยวพัทยาตอนนี้ เหมือนว่า เราเพิ่งถึงโรงพยาบาล อยู่ในมือหมอแล้วแต่จะรอดหรือเปล่า ยังไม่รู้นะ มันอุ่นใจแค่เหมือนอยู่ในโรงพยาบาล แต่ไม่รู้ว่า เรากำลังดีขึ้น หรือ ต้องเข้าไอซียู
จุดเด่นของพัทยา คือ อะไร ในช่วงที่ผ่านมา
ชาวต่างชาติชอบมากเมืองไทย เพราะความหลากหลาย ทั้งสภาพอากาศ อาหาร แหล่งท่องเที่ยว และค่าครองชีพไม่แพงสำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนจุดเด่นของพัทยา คือ เป็นเมืองที่มีความหลากหลาย ( วาไรตี้ ซิตี้) ทั้ง อาหาร พื้นที่ท่องเที่ยว เกาะต่าง ๆ หรือ แสงสีเสียงกลางคืน การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ไม่ไกลจากสนามบิน ไม่ไกลกรุงเทพฯ ราคาที่พักหลากหลายตั้งแต่ 3 ดาว - 5 ดาว เบื่อ ๆ ก็ไปเที่ยวจังหวัดใกล้ ๆ แล้วก็กลับมาพัทยาต่อ มันก็เชื่อมการท่องเที่ยวกันได้
ตั้งแต่ ม.ค 63 ที่เริ่มซบเซา จนถึง สิ้น ม.ย.63 ความเสียหายของภาคโรงแรม ท่องเที่ยวเป็นเท่าไร
น่าจะหลักร้อยล้านบาทครับ เพราะะจริง ๆ วิกฤต COVID-19 แม้จะอยู่ในช่วงเดือน เม.ย.63 แต่สำหรับพัทยา เจอภาวะซบเซาตั้งแต่ ปลาย ม.ค.63 จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่หายไปหมด ( ช่วงCOVID-19 ระบาดหนักในจีน) เริ่มลดลงมาเรื่อย ๆ และมาดับสนิทในเดือน เม.ย. ตอนนั้นอยู่ในภาวะที่พัทยาปิดเมือง แรก ๆ ก็ใจหาย หลังจากนั้นผู้ประกอบการคุยกันว่า เมื่อไหร่ที่จะให้เปิดท่องเที่ยว เราก็พร้อมทันที และที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็พร้อมมาตลอด หากรัฐต้องการความร่วมมืออะไร เรายินดีช่วยตลอดเพื่อให้ทุกอย่างกลับมาเดินต่อได้
หลายคนไม่เคยรู้ชัด ๆ ว่า พัทยารองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มไหนบ้าง ช่วยเล่าให้ฟังในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ไหม
ที่ผ่านมา พัทยาดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติหลากหลายครับ 24 ชั่วโมง 364 วัน เป็นวาไรตี้ของเชื้อชาติด้วยซ้ำ อย่างโซนพัทยาเหนือ เป็นชาวเยอรมัน, เกาหลีใต้, โซนตำบลนาเกลือ มีชาวเยอรมันอยู่เยอะ , โซนพัทยาใต้ จะเห็นชาวอินเดีย มาทางหาดจอมเทียนคุณจะเจอรัสเซีย, ฝรั่งเศส ส่วนจีนจะอยู่รอบนอกเมืองพัทยา เป็นกรุ๊ปใหญ่
เรายังมีเจาะตลาดอินโดนีเซีย จะพักอยู่กันแถวพัทยากลาง เราทำตลาดเวียดนาม, ญี่ปุ่น และจริง ๆ แลัว เมียนมาก็ชอบมาพัทยา รวมถึงกัมพูชา และชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้าประเทศไทยในช่วงที่ผ่าน ๆ มา เขาก็เคยมาพัทยาเกือบหมด ผมเคยตรวจสอบข้อมูลโดยคุยกับผู้ประกอบการ พบว่า ต่างชาติถ้าไม่เดินทางมากรุงเทพฯ ก็ต้องมาพัทยา
มาถึงวันนี้ จะมีเจาะตลาดกลุ่มไหนเพิ่มหรือไม่ หลังวิกฤต COVID-19
ก่อนหน้านี้ มีคนเคยบอกว่า พัทยาไม่เคยง้อคนไทย ถามว่าจริงไหม จริงครับ แต่ตอนนี้ เราต้องหันมาทำตลาดคนไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการตอนนี้ ก็คิดกันว่า ต่อไปก็ต้องทำตลาดให้หลากหลายขึ้น เพราะบางโรงแรม บางกิจการเคยรองรับแต่นักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวประเทศเดียว ก็ต้องปรับให้หลากหลายมากขึ้น เพราะมีประสบการณ์กันแล้วว่า พอเจอปัญหา ลูกค้าจะหายหมด รวมถึงต้องทำแผนบริหารความเสี่ยงกันใหม่ ส่วนตลาดใหม่ ๆ ก็น่าจะเป็นกลุ่มเวียดนาม ถ้าเขาฟื้น COVID-19 ก่อน หรือ ตลาดไหน พร้อมแล้ว ก็ต้องค่อย ๆ ไปเจาะตลาด แต่ที่สำคัญ สถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น ก็สอนให้ผู้ประกอบการปรับตัวเช่นกัน
ถ้าต่างชาติยังมาไม่ได้ ลูกค้าไทยเป็นหลักจะช่วยสถานการณ์ท่องเที่ยวพัทยาได้มากเพียงใด
ตอนนี้ ยังชี้ชัด ๆ ไม่ได้ครับ อย่างที่บอกว่า พัทยาอยู่ในช่วงประคองตัว เพราะนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวได้เฉพาะ ศุกร์ - อาทิตย์ หรือ หยุดยาว 4 วันเทศกาล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีกำลังจ่าย และยิ่งช่วงนี้ โรงเรียนเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของครอบครัวก็ต้องอยู่กับเรื่องการเรียนของลูก รวมถึงต้องมองถึงอาชีพของกลุ่มคนไทยที่เป็นนักท่องเที่ยวด้วย ถ้าเขารู้สึกไม่มั่นคงทางการเงิน การจับจ่ายเพื่อการท่องเที่ยวก็จะลดลงตามไปด้วย ผมประเมินว่า แม้เปิดท่องเที่ยว หรือ รัฐกระตุ้นแคมเปญต่างๆ ทั้ง "ไปเที่ยวด้วยกัน" หรือ " เที่ยวปันสุข" แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า นักท่องเที่ยวสนใจจริง ๆ มากน้อยเพียงใด หรือเป็นกระแสเพียงช่วงแรก ผมประเมินว่า ต้องรอให้พ้นเดือน สิงหาคม หรือ กันยายน 63 ไปก่อน ถึงจะเห็นภาพการท่องเที่ยวพัทยาที่ชัดเจนมากขึ้น
เรื่อง/ภาพ : ภัทรพร ตั๊นงาม