วันนี้ (2 ส.ค.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องพลีบูชาเทวดาอารักษ์ประจำเมืองแพร่ เทวดาอารักษ์ประจำสวนรุกขชาติเชตวัน ที่บริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่และภาคประชาชน หลังจากที่อาคารไม้เก่าแก่ "บอมเบย์เบอร์มา" อายุ 127 ปีที่ทรงคุณค่า ถูกทุบรื้อถอนจนไร้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเข้ามาค้าไม้ของชาวต่างชาติใน จ.แพร่
พิธีดังกล่าวเป็นการขอขมาเทวดาแบบโบราณเมืองแพร่ โดยเชื่อว่าเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่ เทวดาอารักษ์ ผีบ้านผีเรือน เมื่อทำการรื้อถอน หรือสร้างอาคาร บ้านเรือน เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่พื้นที่นั้น เพราะหากมีการรื้อถอนโดยไม่ได้บอกกล่าว อาจทำให้ “ขึด” หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะอยู่ไม่เป็นสุข เกิดเจ็บป่วยไข้หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังเสมือนเป็นการนอบน้อมต่อท้องถิ่นและความรู้สึกของคนเมืองแพร่อีกด้วย
รมว.ทส. กล่าวขอโทษชาว จ.แพร่ พร้อมระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอาคารเก่าแก่หลังนี้ จะด้วยความตั้งใจ หรือความสะเพร่าของบุคคล หรือด้วยเหตุผลใด ก็ไม่ใช่ข้ออ้าง เพราะจิตวิญญาณของ จ.แพร่ ได้ถูกรื้อไปต่อหน้าต่อตา ทำร้ายจิตใจชาว จ.แพร่ ถึงแม้จะสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาเพียงใด ก็ไม่สามารถทดแทนได้ จึงนำมาสู่การจัดพิธีขอขมาในครั้งนี้
ถึงแม้จะสร้างสถาปัตยกรรมให้เหมือนเดิม แต่ไม่สามารถนำจิตวิญญาณมาคืนได้ ผมขอกล่าวคำว่าขอโทษกับพี่น้องชาวแพร่ จากนี้จะร่วมกับประชาชนหาวิธีฟื้นฟู เยียวยาความรู้สึกและจิตใจ
รมว.ทส กล่าวอีกว่า การทำงานหลังจากนี้ไปคือสิ่งสำคัญ ทส.จะร่วมกับประชาชนเดินไปข้างหน้า ฟื้นฟูจิตวิญญาณชาวแพร่ ขณะที่ความผิดพลาดที่ผ่านมาก็ต้องมีการดำเนินการเอาผิด ซึ่งถือเป็นบทเรียนของส่วนราชการที่ต่อไปต้องขอความคิดเห็นและให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม พร้อมยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนกับกรณีบอมเบย์เบอร์มาอีก
สำหรับแนวทางการบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จะเน้นการมีส่วนร่วมในการบูรณะฟื้นฟู ทั้งกรมอุทยานฯ กรมศิลปากร ภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ และภาคประชาสังคม โดยจะต้องบูรณะฟื้นฟูอาคารให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในทุกขั้นตอน
โดยมีกรมศิลปากรเป็นที่ปรึกษาและดูแลเรื่องการออกแบบ ถอดแบบอาคารให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และนำของเดิมมาใช้ให้ได้มากที่สุด โดยอาศัยข้อมูลเดิมจากหอจดหมายเหตุ และข้อมูลภาพถ่ายเดิมจากภาคประชาชน ซึ่งหลังการออกแบบแล้วเสร็จ จะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอความคิดเห็นร่วมกันในการเลือกแบบของอาคารที่จะทำการบูรณะฟื้นฟู เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนเมืองแพร่
ขณะที่กรมอุทยานฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณ พร้อมทั้งสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ในการบูรณะฟื้นฟูอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ โดยให้ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ธัญญา" ย้ำรื้อบอมเบย์เบอร์มาบทเรียนครั้งใหญ่ เดินหน้าบูรณะคืน
กรมศิลปากร เร่งฟื้นฟูโบราณสถาน "อาคารบอมเบย์เบอร์มา"
กรมศิลป์ขอสำรวจโบราณวัตถุใต้อาคาร "บอมเบย์เบอร์มา"
เร่งร่างแบบประกอบอาคาร "บอมเบย์เบอร์มา" จากภาพเก่า