บ้านเกือบ 100 หลัง ในโครงการสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) ใน ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานีบนเนื้อที่ 14 ไร่ ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้าง 75 ล้านบาท อยู่ในสภาพทรุดโทรม เเละ รอบบริเวณ มีวัชพืชขึ้นจนเต็มพื้นที่ เช่นเดียวกับภายในบ้านบางหลังที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ มีวัชพีชเติบโตแทนพื้นบ้าน และมีสัตว์เข้ามาอาศัย
จากการตรวจสอบของไทยพีบีเอส พบว่า โครงการนี้เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2560 ที่อนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2559 ซึ่งรวมถึงโครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) จ.ปัตตานี เพื่อเป็นสวัสดิการที่อยู่อาศัย และสร้างขวัญกำลังใจ ให้ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 115 หน่วย โดยกำหนดเเบบเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น และบ้านเดี่ยว 2 ชั้น ขนาด 28 ตารางวา ราคาขายเริ่มต้นประมาณ 830,000บาท โดยได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2561 ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 23 พ.ค.2563 แต่ได้มีการขยายเวลาให้ผู้รับเหมาอีก 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด กำหนดสิ้นสุดสัญญา วันที่ 21 ม.ค.2564 ซึ่งเหลือแค่ประมาณ 6 เดือน
ไม่เพียงแต่โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) จังหวัดปัตตานีที่มีสภาพทรุดโทรม แต่การดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร กลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รวม 288 หลัง ที่ถูกทิ้งร้างมานานนับ 10 ปี ก็ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยที่จองซื้อแต่ต้องผิดหวังเพราะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ รวมถึงชุมชนใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยทิ้งร้างของพื้นที่ จนกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม
นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบโครงการบ้านเอื้ออาทรร้างสุไหงโก-ลก ยอมรับว่า มีโครงการบ้านเอื้ออาทร ไม่ต่ำกว่า 90 เเห่งทั่วประเทศ ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เเละไม่สามารถจัดสรรให้คนจนได้จริง จึงได้สั่งการให้กลับมาตรวจสอบใหม่ทั้งหมด ก่อนเเบ่งเกรดของเเต่ละโครงการ เป็น 3 เกรด คือ A สามารถไปต่อได้ B คือ อาจต้องปรับปรุง และ C อาจต้องกำจัดทิ้ง
จะออกไปดูทุกที่ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แบ่งเกรดต่อไป จริงๆ บอร์ดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่ ม.ค. แต่ออกมาตรวจไม่ได้ ต้องขออภัยที่มาช้าไป
สอดคล้องกับความเห็นของนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ที่ระบุว่า การเคหะไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีแผนเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเอื้ออาทรร้างทั่วประเทศ โดยจะกลับไปศึกษาความแข็งแรงของการก่อสร้าง แบบเปลน ก่อนปรับปรุง และถอดระบบ เพื่อสานฝันในการสร้างบ้านให้ข้าราชการ และผู้มีรายได้น้อย
เดี๋ยวจะร่วมกับทีมที่นี ว่ามีบ้านหลังไหนที่ไปต่อได้ก็จะรีโนเวท แต่ถ้าบ้านลังไหนไปต่อไม่ได้ ก็ต้องจัดระดับชั้นเพื่อเตรียมมาตรการแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ โครงการบ้านเอื้ออาทร เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตั้งเป้าก่อสร้างบ้านให้คนจนทั่วประเทศ 600,000 ยูนิต ด้วยราคาขายที่ต่ำเพียง 390,000 บาท โดยกำหนดผ่อนเดือนละ 1,500 บาท แต่หลังการยึดอำนาจ เมื่อปี 2549 ได้มีการปรับลดเป้าหมายในการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรทั่วประเทศ เหลือแค่ 280,000 ยูนิต และได้ดำเนินการต่อเนื่องโดยรัฐบาลเกือบทุกสมัย แต่โครงการก็พบปัญหาหลายอย่าง ทั้งการก่อสร้างที่ล่าช้า ผู้รับเหมาทิ้งงาน การขาดทุนจากการก่อสร้าง โครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขายไม่ได้ หรือถูกทิ้งร้าง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
THE EXIT : เปิดปมบ้านเอื้ออาทรร้างกลางเมืองสุไหงโก-ลก