ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ห่วง “ช้างป่า” เปลี่ยนพฤติกรรมหากินบ่อขยะชายป่า

Logo Thai PBS
ห่วง “ช้างป่า” เปลี่ยนพฤติกรรมหากินบ่อขยะชายป่า
กรมอุทยานฯ ห่วงช้างป่าบางตัวในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหากินตามบ่อขยะชุมชนใกล้ชายป่าอนุรักษ์ เสี่ยงพลาสติกอุดตันลำไส้ ซ้ำรอย "น้องอาย" ช้างป่าเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี

พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก รวม 1.3 ล้านไร่ ครอบคลุม จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระแก้ว จ.จันทบุรี จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่ามากที่สุดในประเทศ กว่า 500 ตัว ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่กันชน (บับเบิ้ลโซน) แยกชุมชนกับป่าอนุรักษ์ ช้างป่าบางตัวจึงเข้าไปหากินในพื้นที่การเกษตร ซ้ำร้ายบางเคสเปลี่ยนพฤติกรรมหากินในบ่อขยะ

ห่วง "ช้างป่า" หากินในบ่อขยะ

"ช้างป่าบางตัวพฤติกรรมเปลี่ยนไป หากินแบบง่าย ๆ สบาย ๆ เขาเป็นสัตว์ที่ฉลาดเรียนรู้ไปหากินตามบ่อขยะที่มีกลิ่นเกลือแร่ เพราะจมูกไวมาก" นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เล่าว่า ไม่ค่อยพบปัญหาขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เพราะจุดดังกล่าวมีการดูแลอย่างดี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบ New normal ทำให้โอกาสในการนำขยะเข้าไปน้อยลง อีกทั้งมีมาตรฐานในการควบคุม

ที่น่ากังวล คือ พฤติกรรมของช้างป่าในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด บางตัวออกหากินในพื้นที่การเกษตร ซึ่งขณะนี้นิยมปลูกยางพารา ทำให้ชาวบ้านต้องกรีดยางในช่วงกลางคืนและมีโอกาสพบช้างป่ามากขึ้น นอกจากนี้ช้างป่าบางตัวยังเปลี่ยนพฤติกรรมหากินตามบ่อขยะชุมชนในพื้นที่ติดกับป่าอนุรักษ์

สัตว์แยกไม่ออกว่าตรงไหนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เมื่อเดินมานิดเดียวก็ได้กินของอร่อยทำให้ยิ่งไปใหญ่ ปกติช้างเป็นสัตว์ฉลาด ไม่ค่อยนำของไม่ดีเข้าไปในปากแต่ติดเข้าไปบ้าง อาจไม่ใช่ขยะในป่า เพราะช้างออกมาหากินด้านนอกด้วย
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

นายเผด็จ เล่าว่า ช่วงฤดูแล้งที่แหล่งน้ำในป่าน้อย ไม่เพียงพอ ช้างและสัตว์ป่าอื่น ๆ อาจออกมาหากินด้านนอก จึงขอความร่วมมือชาวบ้านใกล้พื้นที่ชายป่าทิ้งขยะให้เป็นที่ ลดปัญหาสัตว์ป่ากินขยะพลาสติก

ขณะนี้อาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่า ทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้เรียนรู้และปรับวิถีการอยู่ร่วมกัน พร้อมทั้งผลักดันช้างป้องกันการทำร้ายคน แนวทางแก้ปัญหาสำคัญ คือ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ป่า สร้างโป่งเทียม ฟื้นฟูแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ

อาสาฯ เป็นชาวบ้าน รู้พื้นที่ที่สุดและสื่อสารได้ทั่วถึง เราหาทุกวิถีทางนำช้างกลับป่า แต่ระหว่างที่ยังกลับไม่ได้และหากินป้วนเปี้ยนจะทำอย่างไร ที่เขาบอกว่าให้คนอยู่กับช้างได้ ไม่ได้หมายความว่าให้อยู่ด้วยกันจริง ๆ แต่คือการเรียนรู้ด้วยกัน
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

พลาสติกพันลำไส้ "น้องอาย" ช้างป่าเขาคิชฌกูฏ

"น้องอาย" ชื่อที่ชาวบ้านเรียกขาน ช้างสีดอ เพศผู้ อายุ 20 ปี น้ำหนัก 4-5 ตัน สูง 3 เมตร จากพฤติกรรมขี้อาย ชอบหลบหน้าหลบตา และมักจะสำรวจปลั๊กไฟ สวิตช์ไฟ จนหลายคนกังวลว่าจะถูกไฟช็อต สุดท้ายน้องอายตายเพราะไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะจนท้องบวมมาก ปัจจัยเหนี่ยวนำสำคัญเป็นขยะพลาสติกทำลำไส้อักเสบรุนแรงขึ้น

สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ประจำ สสป.สบอ.2 เล่าว่า ช่วงเช้าของวันเกิดเหตุ (8 ก.ค.2563) ได้รับแจ้งให้เข้าตรวจสอบเคสช้างนอนตายในพื้นที่หมู่ 10 ต.พลวง อ.เขาคิชฌกูฏ พบสภาพภายนอกไม่มีร่องรอยอาวุธ หรือของมีคม ทีมสัตวแพทย์ผ่าชันสูตรพบลำไส้เล็กลำไส้ใหญ่อักเสบแดงมาก และพบถุงพลาสติกเปื่อยอุดแน่นอยู่กับอุจจาระ เมื่อล้วงช่องปากพบถุงพลาสติกอีก 1 ชิ้น เชื่อว่าระบบทางเดินอาหารมีปัญหาแน่นอน แต่ส่งเพาะเชื้อตรวจสอบสาเหตุร่วม

ถุงพลาสติกเปื่อยอุดแน่นอยู่กับอุจจาระในลำไส้ น่าจะอักเสบมาระยะหนึ่งแล้วเพราะสำไส้แดงมาก มีอาการท้องอืด ลำไส้อักเสบ อุจจาระค่อนข้างแข็งเพราะผสมขยะ เมื่อไม่ถ่ายจึงช็อกและตายกระทันหัน
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เคสแรกหมอ พบ "ถุงพลาสติก" ในท้องช้าง

สพ.ญ.ณฐนน เล่าวว่า เป็นเคสแรกของตัวเองที่พบพลาสติกอุดตันลำไส้ช้างป่า รู้สึกสะเทือนใจและสงสัยว่าเหตุใดช้างถึงกินพลาสติก ก่อนหน้าวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ชุดติดตามสังเกตว่า ช้างไม่ถ่ายอุจจาระมาแล้ว 2 วัน จึงออกติดตามในคืนนั้นกระทั่งพบนอนตาย

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก นำขวดน้ำกลับไปด้วย หรือทิ้งในถังขยะที่เตรียมไว้ ส่วนขยะนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์นั้นจัดเก็บยาก จึงขอให้เก็บมิดชิด เพราะเป็นพื้นที่หากินของสัตว์ป่า

ช้างมีลำไส้ใหญ่ ระบบทางเดินอาหารใหญ่ คนอาจคิดว่ากินพลาสติกนิดเดียวไม่เป็นไร แต่มีผลอยู่แล้ว เป็นสิ่งแปลกปลอมธรรมชาติ

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อันตราย! โรคระบาดสัตว์ "พาหมา-แมว" เที่ยวอุทยาน

อึ้ง! ขี้ช้างเขาใหญ่เจอถุงพลาสติกเพียบ

เศร้า! คาด “ถุงพลาสติก”ฆ่าช้างป่าเขาคิชฌกูฏ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง