เมื่อผู้สูงอายุต้องรีบขึ้นรถเมล์ในระยะเวลาอันสั้นที่ป้ายรถเมล์ ร่างกายที่ถดถอยตามวัยทำให้ไม่คล่องตัว บางคนต้องรีบสาวเท้าให้ทันเวลาจอดรถเมล์ บางคนถูกแซงหน้าขณะกำลังจะก้าวเท้าขึ้น อีกทั้งยังต้องจับราวให้แน่นเพื่อไม่ให้พลัดตกและเกิดอุบัติเหตุ
ผู้สูงอายุบางคนยังมีสถานะเป็นผู้ให้บริการ ทั้งขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถแท็กซี่ รวมทั้งขับรถตู้ เพราะแม้จะล่วงเลยเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แต่หลายคนยังต้องหารายได้ บางคนยังต้องเป็นเสาหลักเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งผู้สูงอายุบางส่วนสะท้อนว่า พวกเขาต้องการความปลอดภัยในการใช้ชีวิตบนท้องถนน
ป้ายรถเมล์หน้าตลาดย่านสะพานใหม่ มีผู้สูงอายุมารอรถเมล์จำนวนไม่น้อย ผู้สูงอายุหลายคนต้องรีบวิ่งให้ทัน เพราะรถจอดเพียงช่วงเวลาสั้นๆ บางคนวิ่งไม่ทันก็ต้องรอรถคันต่อไป จังหวะการก้าวขึ้นและลงรถเมล์ของผู้สูงอายุบางคนค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะรถที่มีบันไดทางขึ้นสูงกว่าปกติ
เฉพาะในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มผู้สูงอายุเสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้น ตั้งเดือน ม.ค. - มิ.ย. เพียงแค่ 6 เดือน มีผู้สูงอายุเสียชีวิต 42 คน ในจำนวนนี้มาจากการขี่รถจักรยานยนต์ถึง 17 คน ซึ่งมีจำนวนเท่ากันกับคนเดินถนน รองลงมาเป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยาน ขณะที่ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ร้อยละ 76 เป็นเพศชาย และมีผู้สูงอายุเสียชีวิตทันทีในสถานที่เกิดเหตุถึงร้อยละ 40
อุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มักเกิดในช่วงเช้า เย็นและค่ำ ในพื้นที่ชุมชน โดยพบว่าเขตดอนเมืองมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด 4 คน รองลงมาเป็นเขตบางกอกน้อย 3 คน
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน วิเคราะห์สาเหตุผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการข้ามถนนว่า ผู้ขับขี่บางส่วนไม่ได้คำนึงถึงคนข้าม ถนนมีหลายช่องทาง ต้องใช้ระยะเวลานานบนถนน และบางคันขับเร็ว
รถโดยสารประจำทาง และรถบรรทุกมีจุดบอด หรือ Blind Spot ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ทำให้มองไม่เห็นคนข้ามถนน อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสะพายลอยสูงชัน ขึ้นลำบากและอยู่ไกล ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถใช้งานได้
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจากการขี่รถจักรยานยนต์ที่มักจะเกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุตอนต้น อายุระหว่าง 60-69 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่ยังต้องออกมาหารายได้ บางคนใช้รถจักรยานยนต์ของบุตรหลานที่มีขนาดเครื่องยนต์สูง อีกทั้งยังพบปัญหาทางกายภาพ ทั้งถนนลาดชัน มีหลายช่องจราจร ขณะที่การถดถอยของวัยทำให้ผู้สูงอายุมีสมรรถนะในการขับขี่ลดลง ส่งผลต่อการรับรู้และการตัดสินใจ หรือ Reaction time จาก 1-2.5 วินาที เป็น 2-3 วินาที
สอดคล้องกับนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ แสดงความเป็นห่วงความปลอดภัยของผู้สูงอายุบนท้องถนน โดยเฉพาะเมื่อผู้สูงอายุเป็นผู้ขับขี่รถสาธารณะ เพราะสภาพร่างกายที่ถดถอยไปตามวัย ย่อมส่งผลต่อสมรรถนะการขับขี่ ซึ่งรถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด
ทางออกอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับผู้สูงอายุ ในเขตเมืองต้องเพิ่มทางราบในการข้ามถนน มีทางม้าลายที่ปลอดภัย จัดการควบคุมความเร็วในเขตเมืองตามที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีมาตรการที่ชัดเจนกับรถจักรยานยนต์ที่ขับเร็ว ซึ่งกรมการขนส่งทางบกต้องตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเพื่อประเมินความสามารถการขับขี่ รวมทั้งทบทวนใบขับขี่ตลอดชีวิต
กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ที่มีอายุมากขึ้น โดยจะศึกษาหลักเกณฑ์ของต่างประเทศและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ส่วนผู้สูงอายุที่ถือใบขับขี่ตลอดชีพจะไม่ยกเลิก เเต่อาจต้องเข้ามาทดสอบสมรรถภาพร่างกายซ้ำ
สหประชาติคาดการณ์ว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอาจเป็นไปได้ว่าจะเห็นผู้สูงอายุใช้ชีวิตบนท้องถนนมากขึ้น การสร้างความปลอดภัยทางถนนให้ผู้สูงอายุจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รออยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
THE EXIT : อุบัติเหตุในผู้สูงอายุ