วันนี้ (12 ส.ค.2563) พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกคณะปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า การปฎิรูปตำรวจเป็นหนึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการ ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปตำรวจ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา แล้วเสร็จและส่งให้รัฐบาล เมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว
แต่จนถึงขณะนี้เรื่องเงียบหายไป หลังจากเลขาธิการครม.ส่งเรื่องกลับไปถามความเห็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ( สตช.)
“เชื่อว่าไม่มีใครเห็นด้วย กับการไปรื้อบ้านตัวเอง ผมเป็นกรรมการอยู่ในชุดนี้ด้วย ยืนยันว่า ในการประชุมปฏิรูปตำรวจทุกครั้ง ทุกมาตรา อาจารย์มีชัยเชิญตัวแทนจากสตช.เข้าร่วมทุกครั้ง ที่ออกมาคัดค้านบอกว่า ตำรวจไม่รู้เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้” โฆษกคณะปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าว
พล.ต.ท.อำนวยกล่าวต่อว่า เรื่องการปฏิรูปตำรวจ ถ้าไม่เริ่มนับหนึ่ง มันจะไม่มีสอง ถ้าเข้าสภาฯ ก็ต้องมีการตั้งกรรมาธิการ ยังต้องถามและเสนอความเห็นได้อีก และถึงแม้จะไม่ยอมให้มีการปฏิรูปตำรวจ แต่ก็คงไม่รอด
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดไว้แล้วว่า ให้ปฏิรูปตำรวจแล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คือวันที่ 6 เม.ย.2560 แต่จนถึงปีนี้ 2563 ถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
นอกจากนี้ โฆษกคณะปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ยังระบุถึง 5 แผนเร่งด่วนในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เตรียมเสนอให้รัฐบาล ประกอบด้วย
1.จัดทำพ.ร.บ.ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอน ของกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ในกระบวนการยุติธรรม โดยการกำหนดกรอบเวลาทุกขั้นตอนของการดำเนินการ เพื่อให้คู่กรณี และประชาชนทราบถึงความคืบหน้า ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา
หากมี พ.ร.บ.ดังกล่าว จะตรวจสอบคดีกรณีบอส อยู่วิทยา ได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมคดีดังกล่าวจึงล่าช้าถึง 8 ปี ซึ่งนั่นเป็นเพราะใช้วิธีดึง ยื่นร้องขอความเป็นธรรม จนขาดอายุความ
โดยเฉพาะข้อหาที่ไม่มีทางสู้ สุดท้ายเจ้าตัวก็หลบหนีไปต่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดบอดของกระบวนการยุติธรรม
2.เปิดให้มีการแจ้งความต่างพื้นที่ เพื่อเป็นการให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้อย่างสะดวก สามารถแจ้งความได้ทุกโรงพัก ซึ่งเรื่องนี้มีการเขียนในป.วิอาญา มาตรา 123 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกระเบียบมารองรับไว้แล้ว โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกแห่ง รับแจ้งไว้ก่อนและส่งต่อไปในพื้นที่นั้นๆ
3.ให้มีทนายความประจำโรงพัก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้ประชาชนทุกคนต้องมีทนาย ในแผนนี้ ทางคณะกรรมการฯ ได้ร่วมขับเคลื่อนกับสภาทนายความ ไปบ้างแล้ว ปัจจุบันมีทั่วประเทศมีทนายความประจำโรงพักแล้ว 150 แห่งจากทั้งหมด 1,482 แห่ง
4.ปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อไปการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องพิจารณาจากความเสี่ยงที่จะหลบหนี ไม่ใช่พิจารณาจากความวงเงินหรือ ความรวย ความจน เรื่องนี้จะขจัดปัญหาที่มักจะมีความกล่าวว่า ติดคุกเพราะจน
ทั้งนี้ ปล่อยตัวชั่วคราว จะมีการติดกำไลข้อเท้า (EM) เพื่อควบคุมตัว ซึ่งขณะนี้ศาลมีใช้แล้ว แต่ปัจจุบัน สตช.ที่ปล่อยตัวชั่วคราวมากที่สุด กลับยังไม่มีการใช้ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเร่ง สตช.ให้ดำเนินการ
5.การบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ในการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวน เพื่อความชัดเจนของกระบวนการยุติธรรม และนำไปใช้ประกอบสำนวนส่งไปให้ถึงศาลฎีกา
จากเดิมส่งไปเฉพาะเอกสารอย่างเดียว ทั้งนี้เพื่อให้ศาลจะได้เห็นความชัดเจน ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตรวจค้น ยึดอะไรมาบ้าง การจับกุม ถูกต้องหรือไม่ การสอบสวนเป็นอย่างไร ถูกบังคับขู่เข็ญหรือไม่ และมีทนายอยู่ร่วมด้วยหรือไม่
พล.ต.ท.อำนวยกล่าวด้วยว่า ได้เสนอประธานไปว่า เรื่องเร่งด่วนด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้ง 5 ข้อ ให้ประมวลเรื่องปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแล้วส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการขับเคลื่อน
และยังเห็นว่า เรื่องส่วนใหญ่ที่ทางคณะกรรมการฯ เสนอ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสตช. ซึ่งปัจจุบันนายกฯ กำกับดูแล สตช.หากนายกฯ ออกระเบียบสั่งการให้สตช.ดำเนินการได้ทันที