วันนี้ (12 ส.ค.2563) รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการทำงานของประชากร เดือนมีนาคม 2563 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.21 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.33 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.92 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าจำนวนผู้มีงานทำลดลงถึง 4.4 แสนคน
และคาดว่าในเดือน เม.ย. จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5-6 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 2 หากธุรกิจต้องปิดกิจการเพิ่ม โดยเฉพาะภาคบริการ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยประเมินว่าจำนวนแรงงานที่ตกงานปีนี้อาจพุ่งถึง 3-4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10
รศ.ยงยุทธ ยังประเมินว่า แนวโน้มปัญหาการว่างงานจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 โดยคาดว่าจะมีแรงงานตกงานเฉลี่ยปีละ 3 ล้านคน จึงเสนอให้รัฐใช้งบฟื้นฟูเศรษกิจ 4 แสนล้าน ช่วยเหลือผู้ว่างงานกลุ่มต่างๆ เช่น การจัดอบรมเพิ่มทักษะเพื่อไปประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ หรือจัดอบรมเพิ่มความรู้ เพื่อรอกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ขณที่อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า การปรับแก้กฎหมาย เปิดทางให้สถานประกอบการปิดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัย และรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยร้อยละ 62 เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้แรงงานในระบบถูกเลิกจ้าง และไม่สามารถกลับเข้าไปได้ทุกคน เรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องหามาตรการรองรับคนกลุ่มนี้
แต่นักวิจัยฯ มองว่า รัฐบาลต้องเร่งสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับแรงงานนอกระบบทั้งหมด เพราะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ มีสัดส่วนเกินครึ่งของจำนวนแรงงานทั้งหมด 37.5 ล้านคน
เสียงสะท้อนคนตกงาน-ว่างงาน
นายสมเกียรติ คงธารา อดีตพนักงานโรงงานเครื่องหนัง ย่านบางเขน กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หลังบริษัทประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เขาต้องมาขายล็อตเตอรี่เลี้ยงครอบครัวแทน เพราะหางานใหม่ไม่ได้
บริษัทเลิกจ้างเพราะไม่มีออเดอร์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มี COVID-19 แต่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ
ส่วน น.ส.กัญญารัตน์ สมิตะมาน นักศึกษาจบใหม่ กล่าวว่า จบการศึกษามาตั้งแต่ปี 2561 คณะบริหารจัดการ สาขาทรัพยากรมนุษย์ พยายามสมัครงานมาแล้วกว่า 2 ปี แต่ก็ยังไม่ได้งานทำ จึงต้องมาช่วยพ่อแม่ขายของและขายสินค้าออนไลน์ชั่วคราว
ในปีการศึกษาหนึ่ง มีเด็กจบใหม่เป็นแสนคน ซึ่งเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ทำให้ต้องแย่งงานกัน รวมถึงประสบการณ์ทำงานและความอดทน