ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟื้นป่าบุ่งป่าทาม "แม่น้ำสงคราม"​ แหล่งอนุบาลปลาน้ำโขง

สิ่งแวดล้อม
13 ส.ค. 63
14:19
1,554
Logo Thai PBS
ฟื้นป่าบุ่งป่าทาม "แม่น้ำสงคราม"​ แหล่งอนุบาลปลาน้ำโขง
"นครพนม"​ จับมือ​ 50​ หมู่บ้านฟื้นฟูแม่น้ำสงครามตอนล่าง​ หลังขึ้นทะเบียนแรมซาร์​ไซต์​แห่งที่​ 15​ ของประเทศ​ ขณะที่ WWF​ ดัน​หนองหาร​ จ.สกลนคร​ เป็นแรมซาร์​ไซต์​แห่งที่​ 16​ ส่วนสผ.เตรียมทำแผนจัดการพื้นที่ชุ่ม​น้ำนำร่องฟื้นฟู​ 5​ แห่ง หนุนแหล่งรับน้ำหลาก

วันนี้ (13​ ส.ค.​2563) นางรวีวรรณ ภูริเดช​ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้มอบใบประกาศนียบัตรรับรองการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการจาก​ UNESCO ให้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง​ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลกแรมซาร์​ไซต์​ ลำดับที่ 2,420​ ของโลก​ ลำดับที่ 15 ของประเทศไทย​

นางรวีวรรณ กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก​ แรมซาร์ไซต์​ ไม่ได้หมายความว่าห้ามโครงการขนาดใหญ่เข้ามาตั้งในพื้นที่​ เพียงแต่เป็นการบ่งบอกให้รู้ถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่พัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างชาญฉลาด​ เช่นการเป็นแหล่งท่องเที่ยว

พื้นที่ชุ่มน้ำอีกหลายแห่งเสื่อมโทรม​ ถมสร้างเป็นอย่างอื่น​ เป็นปัญหาใหญ่ของไทยที่กำลังเผชิญอยู่​ จึงมีแผนในการฟื้นฟูให้พื้นที่ชุ่มน้ำ​ กลับมาทำหน้าที่​ ในการเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก​ และกำลังศึกษาความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกับนานาชาติอย่างจริงจัง​

ล่าสุดเตรียมจัดทำแผนฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำทั้ง 15 แห่งของไทยที่ขึ้นทะเบียน​เป็นแรมซาร์​ไซต์​ โดยจะนำร่อง​ก่อน 5​ แห่ง​ คือ​ ทุ่งสามร้อยยอด​ จ.ประจวบคีรีขันธ์​ ดอนหอยหลอด​ จ.สมุทรสงคราม​ บึงกุดทิง และบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ​ และแม่น้ำสงคราม​ตอน​ล่าง​ จ.นครพนม​

"แม่น้ำสงคราม"แรมซ่าไซด์แห่งแรกที่เป็นแม่น้ำ

นายสยาม​ ศิริมงคล​ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม​ กล่าวว่า​ พื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่างในอดีตเป็นแหล่งน้ำจืดที่ประสบปัญหาการจัดการ​ พบความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ​ มีน้ำท่วมขังและมีข้อมูลการบุกรุกทำลายป่าในเขตต้นน้ำที่จะใช้น้ำในการเกษตร ด้วยการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม จึงร่วมมือกับเครือข่าย​ฯ​ เริ่มโครงการฟื้นฟูลุ่มน้ำสงครามตอนล่างมาตั้งแต่ปี 2559​ ประสานความร่วมมือกับ 50 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 34,000 ไร่ เน้นการทำเกษตรอย่างยั่งยืนลดการใช้สารเคมีที่อาจปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ​ รวมถึงการจัดการขยะ​ และของเสียที่ปล่อยสู่แหล่งน้ำ กำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา จนผลักดันให้ขึ้นทะเบียน​เป็นแรมซาร์​ไซต์​ได้สำเร็จในปีนี้​ นับเป็นแรมซาร์​ไซต์​แห่งแรกที่เป็นแม่น้ำ

ด้านนายยรรยง​ ศรีเจริญ​ ผู้จัดการโครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่าง WWF​ ประเทศไทย​ กล่าวว่า แม่น้ำสงคราม​ เป็นหนึ่งในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น​ มีความสำคัญมากเชิงนิเวศ​ เป็นเหมือนถูกข้าวอู่น้ำของแม่น้ำโขง​ ช่วยขยายพันธุ์สัตว์น้ำเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารหล่อเลี้ยงประชากรกว่า 60 ล้านคนใน 4 ประเทศ​ ดังนั้นการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์​ไซต์​ ช่วยป้องกันการบุกรุกพื้นที่​ และช่วยสร้างความชัดเจนในการอนุรักษ์ฟื้นฟู​ และใช้ประโยชน์ได้อย่างชาญฉลาด​ และยั่งยืน​

แม่น้ำสงคราม​เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีระบบนิเวศหายาก​ คือ​ ป่าบุ่งป่าทามผืนใหญ่​ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาน้ำจืด​ เป็นแหล่งวางไข่ของพันธุ์​ปลาจากแม่น้ำโขง​ ที่อพยพมาเพื่อผสมพันธุ์ในช่วงฤดูน้ำหลาก

ห่วงปลา-พืชหายากเสี่ยงสูญพันธ์ุ

ทั้งนี้ มีการสำรวจความหลากหลายของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 124 ชนิด​ หนึ่งในนั้นคือปลาหมึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ และพืชอีก 208 ชนิด​ จึงมีความสำคัญทั้งเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่นภูมิภาคโดยหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจัดการพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ได้พื้นที่ถัดไปที่จะดำเนินการต่อ คือหนองหาร​ จังหวัดสกลนคร

ด้าน​นายนันทวัฒ​ ศรีหะมงคล​ ผู้ใหญ่บ้าน​ ม.9​ บ้านแก้วปัดโป่ง​ ต.ไชย​บุรี​ อ.ท่าอุเทน​ จ.นครพนม​ กล่าวว่า​ มีความหวังอย่างมากว่าการที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง​ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์​ไซต์​ จะช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟู​ธรรมชาติดั้งเดิมให้คงอยู่ตลอดไป​ เพราะที่ผ่านมามีหลายโครงการชลประทานที่จะเข้ามาสร้างในพื้นที่​ เช่น​ เขื่อนและประตูระบายน้ำ​ ซึ่งชาวบ้านกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อพันธุ์ปลาที่เคยจับได้

ชาวประมงพื้นบ้านที่นี่สามารถจับปลาได้มากกว่า​ แม่น้ำชี​ และแม่น้ำมูล​ เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเหมือนกันแต่มีเขื่อนกั้น โดยเฉลี่ยแล้วมีรายได้จากการหาปลาเดือนละ 10,000 บาท ชาวบ้านจึงต้องการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้เพื่อให้เป็นแหล่งของพันธุ์ปลา

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง