“หมวด 1 และ 2 ยังมีรายละเอียดอื่นๆ คิดว่าสังคมไทยต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะและรับฟังกันอย่างเปิดกว้าง เมื่อมี ส.ส.ร.ก็ให้รับข้อเสนอของทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีการแตะมาตรา 255 แต่แตะในส่วนที่สังคมไทยเรียกร้องและถกเถียงอย่างมีวุฒิภาวะ” ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 18 ส.ค. หลังพรรคก้าวไกล ถอนรายชื่อ ส.ส.ออกจากญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้าน เน้นแก้ไขมาตรา 256 วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากการเลือกตั้ง เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้
เดิมที พรรคก้าวไกลมีความเห็นต่าง เพราะต้องการตัดตอนอำนาจสมาชิกวุฒิสภา และลบล้างผลพวงและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แนบไปด้วย แต่เมื่อมีการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนในหลายจังหวัด รวมถึงเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.สะท้อนความต้องการ 10 ข้อ เกี่ยวกับสถาบันพระมหาษัตริย์ ทำให้นักการเมืองต้องย้ำจุดยืนต่อ หมวด 1 และ 2 ใน รัฐธรรมนูญ หลายพรรครวมถึงญัตติของพรรคฝ่ายค้าน ส่งสัญญาณชัดเจน “ไม่แตะหมวด 1-2”
ในความเหมือนมีความแตกต่างซ่อนอยู่ กับท่าทีของพรรคก้าวไกล ดังคำให้สัมภาษณ์ของ “ณัฐวุฒิ” เพราะได้อ้างอิงถึงมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญว่า คุ้มครองการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ไว้อยู่แล้ว
“3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน เป็นประเด็นหลักที่ประชาชนส่วนใหญ่และนักศึกษาเห็นร่วมกันแล้วใน 10 ข้อดังกล่าว มีหลายข้อควรค่าแก่การพิจารณา เราจำเป็นต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัยจริงๆที่จะพูดคุยกันได้ พรรคก้าวไกลมั่นใจว่ามาตรา 255 เป็นตัวกำหนดทิศทางเรื่องของหมวดที่ 1 และ 2 อยู่แล้ว ภาพรวมยืนยันข้อเรียกร้อง 10 ข้อนี้ ไม่กระทบต่อการปกครองต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐยังเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่อาจแบ่งแยกได้”
มาตรา 255 บัญญัติไว้ว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้”
แต่การไม่ได้เปลี่ยนระบอบ-ไม่เปลี่ยนรูปแบบของรัฐตามมาตรา 255 กับการแก้ไขหมวด 1-2 ไม่ได้ เป็น “คนละความหมายกัน” เพราะในหมวด 1 บททั่วไป บัญญัติไว้ทั้งอำนาจอธิปไตย, การใช้อำนาจนั้นของพระมหากษัตริย์, ศักดิ์ศรีความเสมอภาค และเมื่อไม่มีบทบัญญัติบังคับหรือวินิจฉัยกรณีใด ให้เป็นไปตามประเพณีการปกครอง
ส่วนในหมวด 2 บัญญัติถึงพระราชฐานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
มาตรา 6 ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดมิได้ รวมถึงบัญญัติถึงคุณสมบัติ การมีอยู่และการพ้นไปขององคมนตรี, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, กรณีราชบัลลังก์ว่างลง และองค์รัชทายาท
บทบัญญัติบางส่วนดังกล่าว เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง 10 ข้อจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.และบางฝ่ายอาจมองว่า หากแก้ไขก็ไม่กระทบต่อการปกครองต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและรัฐยังเป็นรัฐเดี่ยวที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 255 หรือ “พื้นที่ปลอดภัยที่จะพูดคุยกันได้” นั้นคือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องแบกรับความหวังของคนมากมาย ที่หวังจะผ่านพ้นปัญหาการเมืองรอบนี้ไปได้ บนความเสี่ยง “แท้ง” ตั้งแต่ยังไม่ตั้งไข่
เพราะวิธีการแก้ไข รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นที่รับรู้กันว่ายากตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสุดท้าย และพร้อมจะล่มได้ในทุกขั้นตอน หากไม่สามารถแสวงหาความร่วมมือจากการเมืองในทุกภาคส่วนได้
เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล