วันนี้ (21 ส.ค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้ ทำให้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ดำเนินโครงการ "DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง" ซึ่งเป็นมาตรการเชิงป้องกันล่วงหน้าไม่ให้กระทบเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินหลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจใช้เวลานานมากกว่า 2 ปี กว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 โดยโครงการนี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ยังไม่สามารถกลับไปชำระหนี้ได้ตามปกติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีมูลหนี้สูง และเจ้าหนี้หลายสถาบันการเงินซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา
สำหรับรูปแบบการรวมหนี้คล้ายกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2541 ซึ่งในระยะแรกของโครงการจะมุ่งช่วยผู้ประกอบการที่มีมูลหนี้ 50-500 ล้านบาท มีสถานะปกติ หรือ NPL ก็ได้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.62 เว้นแต่พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโดยยังไม่ถูกฟ้องคดียกเว้นเจ้าหนี้ถอนฟ้อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถติดต่อเจ้าหนี้รายใหญ่เพื่อเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.63 เป็นต้นไป
นายผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หลังจากลูกหนี้ติดต่อเจ้าหนี้รายใหญ่ เจ้าหนี้รายใหญ่ จะประสานไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ๆ ก่อนนัดเจรจาและทำสัญญาฉบับใหม่ สำหรับแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ จะเริ่มตั้งแต่การขยายเวลาชำระหนี้ ลดค่างวด ยืดหนี้ หาผู้ร่วมทุน เติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง กรณีธุรกิจมีแผนธุรกิจชัดเจน และมีพฤติกรรมชำระหนี้ดี ตั้งใจทำธุรกิจต่อไป