วันนี้ (24 ส.ค.2563) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ดูงานและมอบนโยบายที่ศาลากลางจังหวัดระยอง อ่างเก็บน้ำดอกกราย มูลนิธิสถาบันพระมหาชนก ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาคตะวันออก
เวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตรเป็นประธานประชุมมอบนโยบาย ที่ศาลากลางจังหวัดระยอง พร้อมด้วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมช.แรงงาน ปลัดกระทรวง ผู้ว่าฯ ระยอง และหัวหน้าส่วนราชการ
พล.อ.ประวิตรกล่าวในการมอบนโยบายว่า การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย การบังคับใช้แรงงานในภาคประมง และปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่จ.ระยอง ดีขึ้น ขอเน้นย้ำการปฏิบัติเพิ่มเติม
นโยบายการประมงแห่งชาติให้ตรวจสอบการเข้า-ออก ท่าเทียบเรือของเรือประมงก่อนและหลังการทำประมง เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเรือ คนประจำเรือ เครื่องมือการทำประมง สัตว์น้ำ ที่ได้จากการทำประมง และเอกสารต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เป็นการทำประมงถูกกฎหมาย
ด้านการตรวจสอบแรงงานในภาคประมง ขอให้ตรวจตราไม่ให้มีการรับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยไม่ผ่านมาตรการคัดกรอง ในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้และการตรวจเชื้อไวรัส COVID-19 เข้าทำงานอย่างเด็ดขาด
พร้อมให้สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ต่อชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล ซึ่งผมได้เร่งรัดให้การเยียวยา ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงให้ใช้กลไกการทำงานของ ศรชล. จังหวัด ตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนภารกิจ ในการตรวจสอบประวัติเรือและเจ้าของเรือ ประเมินราคา ทำลายและจ่ายค่าชดเชยเรือประมง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการนำเรือออกนอกระบบฯ ตามนโยบายของรัฐบาล ระยะที่ 1 จำนวน 305 ลำ ให้กรมประมง และกรมเจ้าท่าเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
สำหรับส่วนที่เหลือ 263 ลำ ให้เร่งป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้สะกัดกั้นการลักลอบพาคนต่างด้าว เข้าเมืองของขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งทางน้ำและทางบก โดยห้ามมิให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วน รู้เห็นกับขบวนการนำพาและนักค้ามนุษย์ หากฝ่าฝืนจะดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาอย่างเด็ดขาด
ในด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ให้บูรณาการแผนงานและมาตรการระหว่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่เป็นสาธารณะ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ป่าไม้ ป่าชายเลน มิให้มีการบุกรุก การถือครอง และใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่ไม่ถูกต้อง
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า พบว่ามีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ในการกระทำผิดของขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ขอให้เพิ่มความเข้มข้นในการสืบสวนปราบปรามบนสื่อสังคมออนไลน์
ขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มความสามารถ มีการบูรณาการภารกิจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงในทุกมิติ และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนในรูปแบบจิตอาสา อาสาสมัคร และเครือข่ายภาคประชาชน