วันนี้ (25 ส.ค.2563) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้ฝากเงินเปลี่ยนไป สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. เปิดเผยว่า ในครึ่งแรกปี 2563 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 63 พบจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ. รวม 80.82 ล้านราย เพิ่มขึ้นราว 1.1 ล้านราย ยอดเงินฝากอยู่ที่ 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.12 เมื่อเทียบกับทั้งปี 2562 ถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่จัดตั้ง สคฝ.ปี 2551 โดยกว่าร้อยละ 98 เป็นผู้ฝากรายย่อย มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจมียอดวงเงินฝากสูงกว่า 25 ล้านบาท
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ระบุว่า เงินฝากจำนวนนี้สูงขึ้น เพราะคนกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการโยกเงินจากสินทรัพย์อื่น มาลงทุนในเงินฝากเพื่อความปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำ ดอกเบี้ยอาจจะน้อยกว่า ถ้านำไปลงทุนในตลาดอื่นๆ
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ยืนยันว่า ธนาคารพาณิชย์ยังมีสถานะการเงินที่ดี ไม่มีธนาคารไหนมีปัญหาส่งเงินเข้ากองทุนของ สคฝ. จึงไม่อยากให้ผู้ฝากเงินวิตกในเรื่องดังกล่าว เพราะหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หน้าที่หลักการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินว่า หากสถาบันการเงินเกิดปัญหาถูกเพิกถอนใบอนุญาต
สำหรับผู้ฝากจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วัน ในวงเงินคุ้มครอง 5 ล้านบาทและขยายจนถึงวันที่ 10 ส.ค.2564 ส่วนที่เกินจะได้รับตามสัดส่วนภายหลังการชำระบัญชีซึ่งโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาแค่ 5 ปี
ขณะที่แนวโน้มการฝากเงินครึ่งปีหลัง นายทรงพล คาดว่า จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจไทยและความผันผวนเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลต่อการลงทุนและการใช้จ่ายของประชาชน
สำหรับสภาพคล่องของ สคฝ. ล่าสุด มีเงินกองทุน 129,969 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนจากเงินลงุทน โดยเน้นในพันธบัตรรัฐบาลและธปท. เฉลี่ยเกือบร้อยละ 2 หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท และได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท