วันนี้ (31 ส.ค.2563) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ ของวุฒิสภา เปิดเผยว่า ถ้าพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปทั้งระบบ รวมถึงพนักงานอัยการด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปตำรวจเพียงอย่างเดียว
“จะเอาคดีใดคดีหนึ่ง หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดมาเป็นตัวแทนทุกเรื่องไม่ได้ ในกรณีทำนองอย่างนี้ เคยเกิดคดีสุพรรณบุรี ทำให้ต้องยกระดับเรื่องแพทย์ชันสูตรพลิกศพทั้งหมด ดังนั้นต้องคิดก่อนว่าในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องให้เกิดความชัดเจนก่อนว่าต้องการให้เกิดอะไร”
นอกจากนี้ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ยังมีเรื่องการถ่วงดุล ระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการในการปฏิบัติงาน ควรพูดเรื่องเนื้องานทำความเข้าใจในกระบวนการยุติธรรมคือป้องกันไม่ให้อาชญากรรมเกิด ซึ่งบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดต้องเข้าใจให้ตรงกัน ทุกคนมีภารกิจที่ต้องป้องกัน
ที่ผ่านมา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มักจะมองที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือป้องไม่ให้เกิดอาชญากรรม แต่แน่นอนว่า เราไม่สามารถป้องกันได้ 100 % เกิดการกระทำผิดทางอาญาขึ้น จนต้องมีการปราบปรามตามมา ซึ่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมักจะพูดในจุดนี้กันมากกว่า
ทั้งนี้ในส่วนด้านกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ว่า ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า ควรปรับปรุงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และนำมาสู่การพิจารณาของรัฐบาล ในโอกาสต่อไป
แต่ในส่วนร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา เห็นควรให้ยกเลิกในการเสนอกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้เห็นว่า ถ้ามีความสำคัญตรงไหนก็ให้ไปปรับในประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาแทน
ทั้งนี้ เพราะร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา พ.ศ.ทำให้เกิดประเด็นปัญหาการทำงาน ในส่วนของพนักงานสอบสวนในฝ่ายตำรวจ ที่ผ่านมากระบวนการสอบสวนทั้งหมดในประมวลกฎหมายคดีอาญา มีบทบัญญัติชัดเจนอยู่แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งหมดได้ทำงานต่อเนื่อง ถ่วงดุล ชัดเจนอยู่แล้ว
ซึ่งในลักษณะกระบวนการยุติธรรมที่ดี ควรจะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งภายใน และภายนอก และโดยเฉพาะงานเกี่ยวการจับกุมกับสอบสวน ควรอยู่ด้วยกัน หากจะแก้ต้องแก้ที่ประมวลกฎหมายอาญาทั้งหมด ไม่ใช่แก้เฉพาะในส่วนตำรวจ
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ประเด็นที่มีปัญหาและนำไปสู่การตัดสินใจรัฐบาล ในเรื่องของการตัดอำนาจผู้บังคับการ และตัวผู้บัญชาการที่มีอำนาจเกี่ยวกับการสอบสวน ซึ่งจะโยงไปถึงการมีความเห็นในทางคดี
ตรงนี้คิดว่า ไม่ควรแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายปราบปรามกับฝ่ายสอบสวน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกัน แต่ความเจริญเติบโต ก้าวหน้าของพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ขัดข้องเพราะเป็นการทำให้ชัดเจนขึ้น
ส่วนเรื่องของการกำหนดให้มี 5 สายงาน และให้การเติบโตเป็นไปตามสายงาน เป็นข้อจำกัดในการบริหารงานบุคคลซึ่ง ได้เคยมีการเสนอให้แบ่งเป็นกลุ่มแทน เพราะอาจจะเกิดปัญหาในการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกำลังคน เรื่องดังกล่าวกำลังทบทวนเพื่อหาข้อยุติ