วันนี้ (31 ส.ค.2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า มีการสุ่มตรวจผักและผลไม้สดจากตลาดในเครือข่าย 41 จังหวัด จำนวน 154 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือน ก.พ. - ก.ค.2563 โดยตรวจวิเคราะห์ 3 สาร ใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการ พบคลอร์ไพริฟอส ตกค้างร้อยละ 13 ปริมาณที่พบน้อยกว่า 0.02-0.89 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างผักผลไม้สด 20 ตัวอย่าง ได้แก่ ใบบัวบก คะน้า กะหล่ำปลี ส้ม องุ่น ฝรั่ง มะยงชิด และพบไกลโฟเซต ตกค้างร้อยละ 4 ปริมาณน้อยกว่า 0.01- 0.13 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวอย่างผักผลไม้สด 6 ตัวอย่าง ได้แก่ พริกขี้หนู ผักกาดขาว ผักแพว โหระพา ส้ม องุ่น แต่ไม่พบการตกค้างของพาราควอตในทุกตัวอย่าง
นอจากนี้ในเดือน พ.ค.ได้สุ่มเก็บตัวอย่างถั่วเมล็ดแห้งและธัญพืช ตรวจวิเคราะห์สารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซตในตัวอย่าง ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวบาเลย์ ข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี จำนวน 12 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นผลผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยพบการตกค้างไกลโฟเซตในตัวอย่างถั่วเหลือง 4 ตัวอย่าง จาก 6 ตัวอย่าง ปริมาณ 0.06-1.16 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตรวจไม่พบการตกค้างพาราควอตในตัวอย่างดังกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์การตกค้างของ 3 สาร จากการสุ่มตรวจตัวอย่างผักและผลไม้สดจากแหล่งจำหน่ายในตลาด มีความเสี่ยงตรวจพบคลอไพรีฟอสตกค้าง โดยเฉพาะในผักใบและผลไม้หลายชนิด โดยไม่พบการตกค้างของพาราควอต ส่วนถั่วเหลืองเมล็ดเต็มและเมล็ดซีกที่ผลิตในประเทศและไม่ระบุแหล่งที่มา มีความเสี่ยงพบสารเคมีกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตตกค้าง ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อทวนสอบประสิทธิภาพของมาตรการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรและการจำกัดการใช้สารเหล่านี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป