ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวบ้านบุกยึดเหมืองหินปูน ทวงป่าชุมชน "ภูผาฮวก"

Logo Thai PBS
ชาวบ้านบุกยึดเหมืองหินปูน ทวงป่าชุมชน "ภูผาฮวก"
กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได บุกยึดเหมืองหิน ธ.ศิลาสิทธิ บริเวณภูผาฮวก จ.หนองบัวลำภู หลังเรียกร้องมานาน 26 ปี พบความผิดปกติขั้นตอนขออนุญาต ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภาพเขียนสีแต่ใบอนุญาตเพิ่งหมดอายุเมื่อ 3 ก.ย.นี้เรียกร้องไม่ให้ต่อใบอนุญาต

วันนี้ (4 ก.ย.63) ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เดินเท้าเข้าไปในพื้นที่เหมืองหิน ธ.ศิลาสิทธิ บริเวณภูผาฮวก ที่ใช้พื้นที่กว่า 175 ไร่ และโรงโม่หินอีก 50 ไร่ เพื่อแสดงเจตนาทวงคืนผืนป่าชุมชน หลังจาก 26 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากพบความผิดปกติในส่วนของการขออนุญาต ที่สำคัญคือกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ภาพเขียนสีโบราณที่พบในพื้นที่ และกรมศิลปากร ได้ประกาศเป็นแหล่งโบราณคดี 



กิจกรรมในวันนี้ของชาวบ้านคือการเดินขบวนเข้าไปในเหมือง ยึดพื้นที่ป่าชุมชุนคืน หลังวันที่ 3 ก.ย.นี้ ใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองแร่ ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่หมดอายุลง ซึ่งจะส่งผลให้บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ ไม่สามารถใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ หรือกิจกรรมอื่นใดได้อีกต่อไป พร้อมทั้งเรียกร้งไม่ให้มีการต่อใบอนุญาตในการใช้พื้นที่ป่าและทำเหมืองในพื้นที่ต่อไป

ต่อสู้ยาวนานเสียชีวิต 4 คน

สำหรับพื้นที่ดังกล่าว ชาวชุมชนรวมตัวคัดค้านการมาของเหมืองนี้ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งก่อนหน้านี้มีชาวบ้านถูกลอบยิงเสียชีวิต 4 คนหลังจากเข้าร่วมการคัดค้านคือ นายบุญรอด ด้วงโคตะ นายสนั่น สุขวรรณ กำนันทองม้วน คำแจ่ม และนายสม หอมพรมมา ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งยังจับผู้ก่อเหตุไมได้

ต่อมาในปี 2561 ศาลปกครองอุดรธานีมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้บริษัทเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตร แต่บริษัทของเหมืองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด และบริษัทยังอุทธรณ์ขอต่อใบอนุญาตขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองหินบนภูผาฮวกอีก 10 ปีหรือจนถึงปี 2573

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

26 ปีที่รอคอย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเฮ บริษัทย้ายโรงโม่หิน "ดงมะไฟ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง