ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ปากเหว" ถึง "ก้นเหมืองอัครา" เกมเจรจาบนหน้าตักคนไทย

สังคม
9 ก.ย. 63
09:51
4,375
Logo Thai PBS
"ปากเหว" ถึง "ก้นเหมืองอัครา" เกมเจรจาบนหน้าตักคนไทย
ออกทางไหน ? เมื่อคดีเหมืองทองอัครากลายเป็น “เกมบนโต๊ะเจรจา” เจาะลึกสายสัมพันธ์ “ทุนไทย” กับ บริษัท คิงส์เกต บริษัทแม่เหมืองอัครา พบพฤติกรรมส่อใช้ “นอมินี” กินรวบธุรกิจเหมืองทอง ก่อน คสช. สั่งยุติกิจการจนนำไปสู่การฟ้องร้องที่ไทยเสี่ยงเสียค่าโง่

กรณีที่รัฐบาล คสช. สั่งยุติการดำเนินการของเมืองทองอัครา จนนำไปสู่การฟ้องร้องรัฐบาลไทยเพื่อเรียกค่าเสียหาย ซึ่งกระบวนการอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้หากคดีพ้นชั้นอนุญาโตตุลาการ มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลไทยจะใช้ข้อต่อสู้ 2 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 กรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ มีการรับสินบนและอนุมัติ EIA ขยายพื้นที่สัมปทานเหมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

ป.ป.ช.ยังขยายผล ตั้งอนุกรรมการไต่สวน หลังทางการออสเตรเลียส่งหลักฐานชี้ว่ามีนักการเมืองไทยส่งอีเมลเรียกรับสินบนจาก บริษัท คิงส์เกต เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ บริษัท คิงส์เกต ที่เป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อัครา โดยไต่สวน นายประเสริฐ บุญชัย อดีต รมว.อุตสาหกรรม และ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ประเด็นที่ 2 การชี้ให้เห็นว่า บริษัท คิงส์เกต ผิดเงื่อนไขในการลงทุนในประเทศไทย มีความเป็นไปได้ว่า บริษัท คิงส์เกต อาจใช้ “นอมินี” ร่วมถือหุ้นลงทุนใน บริษัท อัครา ทั้งที่ตามกฎหมายต่างชาติไม่สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการและไม่สามารถถือหุ้นเกิน 49%  ซึ่งประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนในทางลับ

3 ทุนใหญ่ กับสายสัมพันธ์ คิงส์เกต

ไทยพีบีเอส ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้นและกลุ่มทุนไทยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของ บริษัท คิงส์เกต ตั้งแต่ต้น

พบว่า บริษัท คิงส์เกต เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ ปี 2534 ต่อมาเริ่มมีการสำรวจเหมืองแร่ ปี 2535 ซึ่งมีกลุ่มทุนไทยหมุนเวียนเข้าไปร่วมทุนหลายกลุ่ม แต่ยังไม่ปรากฎกลุ่มทุนใหญ่ที่ชัดเจน

กระทั่ง ปี 2549 พบกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้าไปร่วมทุน คือ บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย และต่อมา ปี 2552 มีกลุ่มทุนใหญ่อีกกลุ่ม ชื่อ บริษัท สินภูมิ จำกัด เข้าไปร่วมทุน

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้น พบว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้ เป็นเครือข่ายกลุ่มทุนเดียวกัน โดยมีการใช้บุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดถือหุ้น หรือเป็น "กรรมการบริษัท" ซึ่งมีกลุ่มนักลงทุน 3 กลุ่มเท่านั้น คือ 1.เตชะอุบล 2.จึงรุ่งเรืองกิจ และ 3.เปี่ยมพงษ์สานต์ (แผนผังตรวจสอบความสัมพันธ์ของผู้ถือหุ้นอยู่ในหัวข้อสุดท้าย)

ต่อมากลุ่มทุนใหญ่ที่มี 3 ตระกูลกำกับอยู่ ถูกผลักออกไปจากการร่วมทุนกับ บริษัท คิงส์เกต โดยมีบุคคลเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับ บริษัท คิงส์เกต แทน

ใครคุมใคร ? อัครา ในมือ ณุชรีย์-คิงส์เกต

บุคคลที่เข้ามาร่วมลงทุน คือ นางณุชรีย์ ไศละสูตร (หรือ Nucharee S. Brown) เมื่อสืบค้นประวัติ พบว่า นางณุชรีย์ มีสามีชื่อ Maxwell Clive Brown เป็นเจ้าของ บริษัท โลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง ซึ่งเป็นธุรกิจรับเหมาช่วงต่อ (Subcontractor) บริษัท คิงส์เกต ดำเนินกิจการเหมืองแร่ เช่น การรับเปิดหน้าดินทำเหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลของบริษัทฯ พบว่าเคยรับช่วงต่อทำเหมืองชาตรีในประเทศไทย และทำเหมืองในประเทศลาว

 

ข้อสังเกต ตั้งแต่ นางณุชรีย์ เข้าไปเป็นผู้ร่วมลงทุนใน บริษัท คิงส์เกต เมื่อปี 2554 นับจากนั้น 2 ปี ปี 2556 นางณุชรีย์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท อัครา เมื่อ บริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท อัครา รีซอร์สเซส"

ปี 2556 ข้อมูลระบุว่า บริษัท อัครา มีนางณุชรีย์ ถือหุ้น 51.75% มูลค่า 265 ล้านบาท และบริษัท คิงส์เกต ถือหุ้น 48.24% มูลค่า 244 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลนี้เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนของต่างชาติในประเทศไทย ที่ต้องมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ไม่ต่ำกว่า 51% และต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49%

สิ่งที่เป็นประเด็นน่าสงสัย คือ ปี 2554 ช่วงที่ นางณุชรีย์ เข้าไปร่วมลงทุนใน บริษัท คิงส์เกต พบว่า บริษัท โลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง ของนางณุชรีย์ มีกำไร 6 ล้านบาท เท่านั้น แต่หลังจากนั้น 2 ปี นางณุชรีย์ กลับมีเงินลงทุนถึง 265 ล้านบาท และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท อัครา ซึ่งการสืบสวนเชิงลึก นางณุชรีย์ อ้างว่าเงินที่ได้มานั้น มาจากการระดมทุนและการกู้ยืมผู้ถือหุ้นใน บริษัท โลตัส ฮอลล์ ไมนิ่ง และเงินจากการประกอบธุรกิจของบริษัท

การตรวจสอบของไทยพีบีเอส ยังพบพิรุธจากการที่ บริษัท คิงส์เกต แจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย และข้อมูลที่ บริษัท อัครา แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่ตรงกัน โดยพบว่า บริษัท คิงส์เกต แจ้งว่า บริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท อัครา 100% ขณะที่ บริษัท อัครา แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัท คิงส์เกต ถือหุ้นแค่ 48.24%

หลักฐานที่แสดงในข้างต้น พบนัยยะความสัมพันธ์ระหว่าง บริษัท คิงส์เกต และ นางณุชรีย์ ซึ่งเป็นบุคคลถือสัญชาติไทย และยังพบข้อมูลที่ บริษัท คิงส์เกต แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ไม่ตรงกับข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

ยักษ์ชนยักษ์

ตามไทม์ไลน์การประกอบธุรกิจของ บริษัท คิงส์เกต ในประเทศไทย ช่วงปี 2554 กลุ่มไทยใหญ่ที่ประกอบไปด้วย 3 ตระกูล คือ 1.เตชะอุบล 2.จึงรุ่งเรืองกิจ และ 3.เปี่ยมพงษ์สานต์ ถูกผลักออกไปจากการร่วมทุน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับ บริษัท คิงส์เกต ก่อนที่เรื่องจะเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการ

วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เผยว่า การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกต เพื่อหาทางออกของข้อพิพาทนี้มีความคืบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับทั้งสองฝ่าย

ไทยพีบีเอส ตั้งข้อสังเกตต่อการเจรจาในครั้งนี้ หากเปรียบการเจรจาดคีพิพาทเหมืองทองอัครา เป็น “เกมบนโต๊ะเจรจา” เท่ากับว่าทุกฝ่ายมีไพ่อยู่ในมือ โดยไพ่ที่อยู่ในมือรัฐบาลไทย คือ กรณีที่ บริษัท คิงส์เกต ติดสินบนข้าราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม และหลักฐานที่ยืนยันว่ามีการติดสินบนรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

ขณะที่ บริษัท คิงส์เกต มีไพ่ในมือ คือข้อตกลง TAFTA (ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย) ซึ่งใช้กล่าวหาว่ารัฐบาลไทยไม่ดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวในการสั่งให้ บริษัท อัครา ยุติการทำเหมือง โดยใช้คำสั่ง ม.44 ในสมัยรัฐบาล คสช.

ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มทุนไทยที่มีข้อได้เปรียบ คือการเจรจาต่อรองเพื่อให้ บริษัท คิงส์เกต มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้น เพื่อให้กลุ่มทุนไทยมีโอกาสกลับเข้าไปร่วมทุน แลกกับการให้ บริษัท คิงส์เกต กลับมาทำเหมือง และรัฐบาลไทยไม่ดำเนินคดีหรือเรียกค่าเสียหายกรณีติดสินบน ซึ่งช่องทางนี้จะทำให้รัฐบาลไทยไม่ต้องเสียค่าชดเชยความเสียหายในกรณีแพ้คดี หรือ เสียค่าโง่ด้วย

ค้นข้อมูล กลุ่มทุนไทย-บริษัท คิงส์เกต

ไทยพีบีเอส ขยายผลการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่าง กลุ่มทุนไทย และ บริษัท คิงส์เกต โดยมีจุดเริ่มต้นจากเอกสารรายงานประจำปีของ บริษัท คิงส์เกต พบว่า ปี 2549 มีกลุ่มทุนใหญ่เข้าร่วมลงทุน คือ บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย เข้าถือหุ้นในบริษัท อัครา 51.96%

 

เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้น (2 มี.ค.2549) พบรายชื่อบุคคลที่ล้วนแต่เป็นพันธมิตรกับ “กลุ่มเตชะอุบล” และเมื่อตรวจสอบรายชื่อ “กรรมการบริษัท” ตั้งแต่ ปี 2549 , ปี 2554 ,ปี 2562 พบว่าบุคคลที่เป็นพันธมิตรกับ กลุ่มเตชะอุบล อาทิ นายวิเชียร เจนสวัสดิชัย ,นายจักรกริช บุญประภาศิต (ตัวอักษรสีเขียว) เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบย้อนไปถึงโครงสร้างของ บริษัทหลัก คือ บริษัท เอ็มไพร์ โฮลดิ้ง ที่ลงทุนใน บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย 99% พบว่าผู้ถือหุ้น เช่น นายจักรกริช ,นายสืบพงษ์ เพ็ชรรัตน์ เป็นเครือข่ายของกลุ่มเตชะอุบล

นอกจากนี้ในเครือข่ายของ บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย ,บริษัท เอ็มไพร์ โฮลดิ้ง ,กลุ่มเตชะอุบล ,กลุ่มบ้านฉาง กรุ๊ป ยังพบตัวละครที่เป็นบุคคลสำคัญ (Key Figure) คือ นายทวีศักดิ์ ศรีสัมฤทธิ์ (ตัวอักษรสีแดง) เป็นบุคคลใกล้ชิดกับ กลุ่มเปี่ยมพงษ์สานต์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ส่วน กลุ่มเตชะอุบล เป็นกลุ่มทุนที่มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์กับ กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเช่นกัน

 

อ่านเพิ่ม จี้ "สุริยะ" ลาออก หลังผลสอบเหมืองทองคำ พิจิตร 6 ปี ไม่ชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง