ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : เปิดกระป๋องทูน่าไทย ตอน 1

เศรษฐกิจ
8 ก.ย. 63
19:20
3,068
Logo Thai PBS
THE EXIT : เปิดกระป๋องทูน่าไทย ตอน 1
ธุรกิจแปรรูปปลาทูน่าของไทย เติบโตแบบก้าวกระโดด แค่ครึ่งปีแรกมูลค่าการส่งออกแตะ 3.8 หมื่นล้านบาท แต่การประกาศผลการจัดอันดับความยั่งยืนของทูน่ากระป๋องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุดไทยผ่านเกณฑ์ระดับดีเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้น

วันนี้ (8 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจแปรรูปปลาทูน่าของไทย เติบโตสวนทางกับความซบเซาของเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งการหยุดอยู่ในบ้านในช่วง COVID-19 ระบาด และเทรนด์เรื่องสุขภาพ ทำให้ "ทูน่ากระป๋อง" ที่วางอยู่ชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งในและต่างประเทศกลายเป็นของที่ต้องซื้อติดบ้าน

วันผลิตและวันหมดอายุ อาจเป็นจุดแรกที่ผู้บริโภคต้องสังเกตบนกระป๋องเวลาเลือกซื้อทูน่ายี่ห้อหนึ่ง แต่มากกว่านั้นคือ เราจะรู้ที่มาที่ไปของทูน่าในกระป๋องได้อย่างไร ซึ่งรายงานการจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องปี 2020 ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นความพยายามหนึ่งในการตอบคำถามนี้

 

ปี 2563 เป็นครั้งที่ 4 ของการจัดอันดับความยั่งยืนของทูน่ากระป๋องใน 3 ประเทศยักษ์ใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ผลปรากฎว่ามีเพียง 4 ยี่ห้อจาก 20 ยี่ห้อ ที่ผ่านเกณฑ์ระดับดี มีปลากระป๋องไทยที่ผลิตโดยบริษัท Sea Value ติดอันดับ 2 นอกนั้นอยู่ในระดับพอใช้ และมี 1 แบรนด์ที่ต้องปรับปรุง

โดยข้อมูลจากรายงาน พบว่า แบรนด์ทูน่ากระป๋องของไทยที่ติดชาร์จอันดับ 2 ได้รับมาตรฐานอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงอย่างยั่งยืน และมีฉลากรับรองความปลอดภัยของโลมาว่าจะไม่ถูกใช้เป็นเป้าล่อ หรือถูกจับมาด้วย

ปลาในกระป๋องเป็น "ทูน่าครีบเหลือง" ที่เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ทูน่าที่ถูกจับด้วยเบ็ดตวัดแบบ 100% วิธีการจับปลาลักษณะนี้เข้าข่ายการทำประมงแบบยั่งยืน และช่วยลดความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิแรงงานกลางทะเลได้ อีกทั้งปลายี่ห้อนี้ถูกจับใน "ทะเลบันดา" ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะนำเข้าท่าเรือแล้วรวบรวมทั้งหมดส่งมายังโรงงานในประเทศไทย

 

การที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับจากกระป๋องบนชั้นวางขายไปจนถึงทะเล เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์ที่กรีนพีซใช้จัดอันดับทูน่ากระป๋องร่วมกับบริษัทต่างๆ แต่บริษัทนี้ไม่ได้ผลิตแค่ยี่ห้อเดียว ยังมีไลน์การผลิตให้กับยี่ห้ออื่นๆ หรือที่เรียกว่า OEM เพื่อส่งขายในตลาดต่างประเทศอีกมาก ซึ่งกรีนพีซคาดหวังว่าบริษัทจะขยายมาตรฐานความยั่งยืนเหล่านี้ออกไปในทุกยี่ห้อ

ก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารของบริษัทซี แวลูฯ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงสัดส่วนของการผลิตทูน่ากระป๋องเพื่อส่งออก มีมากกว่า 90% ไม่ต่างจากบริษัทอื่นๆ ของไทย เช่น บริษัทไทยยูเนี่ยน ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ หรือกลุ่มพัทยาฟู๊ด ที่มีสัดส่วนการผลิตทูน่ากระป๋องเพื่อส่งออกมากกว่าการขายในประเทศ

ไทย ไม่ใช่ประเทศที่เป็นแหล่งหากิน หรือเส้นทางอพยพของฝูงทูน่า และก็ไม่มีกองเรือขนาดใหญ่ในการจับทูน่าเหมือนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกอย่างญุี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน ที่เป็นแถวหน้าในการจับ แต่ไทยคือศูนย์กลางในการรับซื้อปลาทูน่าจากทั่วโลก

 

ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า ปลาทูน่าแช่แข็งที่ส่วนใหญ่ทำปลากระป๋อง ถูกนำเข้ามาในไทยปีละประมาณ 7-8 แสนตัน มูลค่าประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท สูงสุดคือ ทูน่าท้องแถบ ซึ่งหากคิดเฉลี่ยที่ตัวละ 1.5-2 กิโลกรัม เท่ากับไทยนำเข้าทูน่าพันธุ์นี้ปีละประมาณ 300-400 ล้านตัว และไต้หวันที่มีเทรดเดอร์รายใหญ่ในวงการทูน่า ยังคงรั้งอันดับ 1 ในการส่งทูน่าแช่แข็งมาให้ไทย

อีกส่วนที่นำเข้าคือ ปลาทูน่าสด ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้ในการทำทูน่ากระป๋องมากเท่าไหร่ 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง แต่บางสายพันธุ์เช่น ทูน่าครีบน้ำเงิน ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมียมมีปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นตามการเติบโตของธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ที่เหลือเป็นการนำเข้าทูน่าสดแล่มาเป็นชิ้นๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยรวมปี 2562 ไทยนำเข้าทูน่าทุกประเภทกว่า 7 แสนตัน ครึ่งปีแรกที่มีการระบาดของ COVID-19 ยอดนำเข้าตกลงเล็กน้อย แต่ปรากฎว่าการส่งออกทูน่าแปรรูปเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้ยืนยันความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมทูน่าไทยในตลาดโลก แต่การละเมิดสิทธิแรงงานและการทำประมงแบบไม่ยั่งยืนจากประเทศที่ไทยไปนำเข้าวัตถุดิบมา จะทำให้เกิดปัญหาที่นำไปสู่ภาวะชะงักงันหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง