วันนี้ (16 ก.ย.2563) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายมาตรา 1 ระบุว่า พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยส่วนตัวขอเพิ่มเติมคำว่า "ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ" เนื่องจากรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายตั้งแต่รัฐประหารจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีความหวังและไม่สามารถวัดผลได้ จึงอยากให้รัฐบาลสำนึกว่าการแจกเงินให้กับประชาชนเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ รวมถึงงบฯ ที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19
ทุกมาตรา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรมใด บางครั้งก็ตั้งงบประมาณโดยสมมติฐานไว้เผื่อต่อ เผื่อตัด
นายจิรายุ เห็นว่างบประมาณที่ตั้งมานี้ไม่ตั้งอยู่บนสมมติฐานของสถานการณ์ COVID-19 แม้จะมีการแก้ไขในวาระแรกที่รับหลักการ แต่หลังเกิดสถานการณ์ รัฐบาลกลับไม่ได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายแต่อย่างใด และเมื่อมีการตรวจสอบก็มักจะถูกฟ้องหมื่นประมาทอยู่เสมอ ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรให้โอกาสรัฐบาลชุดนี้ในการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลโดยการกู้เงินมาใช้ แต่ไม่บอกประชาชนว่าจะหาเงินจากที่ไหนเพื่อนำมาใช้เงินกู้ จึงอยากฝากไปยังคณะรัฐมนตรีหาวิธีบริหารจัดการเงินงบประมาณแผ่นดิน ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาระบุว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั้น ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่น
"ผมรู้สึกเอือมระอาทุกครั้งที่มานั่งในห้องประชุม และซักถามรัฐมนตรีหลานท่าน เพราะท่านไม่สำนึกว่าการใช้งบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท และขาดดุลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักกู้แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นนายกฯ ที่กู้เงินมากที่สุด เพราะเราไม่เคยใส่มาตรา 1 โดยลักษณะเช่นนี้ไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ"
นายจิรายุกล่าวสรุปว่า มาตรา 1 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ที่จำเป็นต้องเติมคำว่า "ที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ" เป็นสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.ต้องตระหนักดีว่าไม่ใช่เงินของใคร หรือตระกูลใด นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ กมธ.วิสามัญหลายอนุ ไม่ได้มีการตัดงบประมาณอย่างเป็นระบบ เช่น กมธ.อนุงบประมาณปกครองท้องถิ่น ที่มีหัวโต๊ะเป็นพรรครัฐบาลนั่งอยู่ จึงอยากให้รับบาลชี้แจง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถกงบฯ 64 วันแรก ชงหั่นงบเหลือ 3.28 ล้านล้านบาท