ในปรากฎการณ์ความเห็นต่างทางความคิดของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะประเด็นทั้งการใช้สถานที่ "ธรรมศาสตร์" จัดชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ การชูประเด็น "ปฏิรูปสถาบัน" เป็นธงนำในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เปิดประเด็นปราศรัยสร้างความสะเทือนเป็นวงกว้างในสังคมไปแล้วครั้งหนึ่งจากการจัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในวันเปิดเทอมของนักศึกษาธรรมศาสตร์ 10 ส.ค.63 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ "รุ้ง" เป็นผู้ขึ้นเวทีอ่านประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1" เกี่ยกับการปฏิรูป 10 ข้อ
ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ "รุ้ง" น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หัวหน้ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เกี่ยวกับการจัดชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 (19 กันยายน63)
การชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้ ยังยืนยันตามเดิมหรือไม่ ?
ยืนยันไม่เปลี่ยนสถานที่ค่ะ ถ้าเขาปิดประตู เราก็จะใช้ ถ้าเขาล็อกโซ่ เราจะตัดออก เรายืนยันจะใช้ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่จัดชุมนุมแน่นอน นี่เป็นจิตวิญญาณของธรรมศาตร์ คือการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อความยุติธรรม ต่อสู้กับความอยุติธรรม และสู้เพื่อประชาธิปไตย
ย้ำแจ้งรายละเอียดการชุมนุม ให้ทางมหาวิทยาลัยรับทราบตามเงื่อนไขแล้ว ?
ก่อนหน้านี้กลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ได้แจ้งรายละเอียดให้มหาวิทยาลัยรับทราบ และมีอาจารย์ที่ปรึกษา (รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อดีตคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.) ลงนามรับรองตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนดแล้ว แต่การไม่ให้ใช้สถานที่จัดชุมนุม เป็นการทำลายจิตวิญญาณของธรรมศาตร์อย่างร้ายแรง ขอให้ผู้บริหารพิจารณาตัวเองว่าได้ปฏิบัติหน้าที่สมกับที่ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพแล้วหรือไม่ ซึ่งการใช้ธรรมศาสตร์จัดชุมนุม เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด และสะดวกสุดสำหรับการให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุม
ถ้ามวลชนมีมากจนล้น ม.ธรรมศาสตร์ รุ้งเคยประกาศว่า จะพาคนไปยึดสนามหลวง ?
แน่นอนค่ะ หนูยืนยันว่า ถ้าคนล้นออกมา ก็จะไปรวมตัวกันที่สนามหลวงปักหลักค้างคืนกันที่นั่น เพราะหนูเห็นว่าสนามหลวง เป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ ไม่ว่าจะใครก็ตาม และที่ผ่านมาหลายปี มันก็เป็นเช่นนั้น ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้คน
เป็นห่วงอะไรมากที่สุด ในการจัดการชุมนุม 19 - 20 ก.ย.นี้ ?
หนูไม่ได้ห่วงเรื่องการปะทะระหว่างมวลชน แต่ถ้ามีจริง ๆ เราก็เตรียมพร้อมความด้านความปลอดภัยไว้แล้ว ไม่อยากให้ใครเจ็บตัว แม้กระทั่งตัวรุ้งเองก็ตาม กลุ่มเราเตรียมทุกอย่างรัดกุมมาก ทั้งการรักษาความปลอดภัย การจัดสถานที่ การดูแลจุดต่าง ๆ อาหารการกิน การปฐมพยาบาล รถห้องน้ำ ส่วนพื้นที่รอยต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม คิดว่าเราเตรียมพร้อมเรื่องการเจรจา การรับมือด้านต่าง ๆ อยากให้ประชาชนวางใจเชื่อใจว่า กลุ่มแนวร่วมฯ เตรียมการไว้อย่างดี การชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม หนูยืนยันว่าจะไม่ยกเลิกเพียงเพราะใครมาบอกให้เรายกเลิก เพียงเพราะใครห้ามไม่ให้เราจัด นี่เป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของเราโดยสันติ
การจัดชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ประเด็นสำคัญของกลุ่มแนวร่วมฯ คือ การชูธงพุ่งเป้าไปที่ปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ แต่เรื่องนี้ทำให้ผู้คนในสังคมเห็นแตกต่างกันรุนแรง การจัดชุมนุมกลายเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ?
หนูเข้าใจนะคะว่าคนที่ไม่เห็นด้วยมีเยอะ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทยที่จะพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ และพูดข้อเรียกร้องที่จริงจังกันขนาดนี้ แต่หนูอยากให้เขาลองเปิดใจรับฟัง เพราะสิ่งที่เราเสนอ 10 ข้อ เรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ก็เพื่อให้คงอยู่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ได้กับสังคมปัจจุบันในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อให้สถาบันฯ เป็นที่เทิดทูนเป็นมิ่งขวัญของประชาชนต่อไป
วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา จากเวทีชุมนุมธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นการประกาศดันเพดาน แล้ววันที่ 19 ก.ย.นี้ จะดันทะลุเพดานอีกไหม ?
ตอนนี้เพดานมันไม่มีแล้วค่ะ ตอนนี้เป็นการประคองให้ 10 ข้อเรียกร้องนี้สำเร็จ คือการขอให้ช่วยกันพยุงช่วยกันดันจนกว่า 10 ข้อนี้จะสำเร็จ แต่ความร่วมมือแน่นอนว่าต้องมาจากรัฐบาล รัฐสภาด้วยที่ต้องรับฟัง แล้วดำเนินการจริงจัง
ประเด็นเจรจากับทางมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัย ขอให้ยกเลิกปราศรัยเรื่อง 10 ข้อปฏิรูปสถาบันฯ ?
ไม่ยอมค่ะ เรื่องสถาบันฯ ต้องถูกพูดถึง เราจะไม่หยุดพูดเพียงเพราะใครสั่งให้เราหยุด ถ้าเราต้องการการพัฒนาการเมือง เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราต้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ ด้วย เราพร้อมพูดคุยกับมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการเป็นอย่างไร มีการรักษาความปลอดภัยตรงไหน มาตรการจัดชุมนุม แต่เราจะไม่ยอมเรื่องการเจรจาเนื้อหาปราศรัย ถ้าจะขอให้ยกเลิก ซึ่งขณะนี้เราไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยถูกกดดันจากใคร หรือ เพราะกลัวเอง จึงไม่อยากให้จัดการชุมนุม แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการเจรจาระหว่างนักศึกษา และ ทางมหาวิทยาลัย หรือ ตำรวจ (ตามเงื่อนไขข้อ 3 ในเอกสารแนวทางปฏิบัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
เป็นไปได้หรือไม่ ที่ทางมหาวิทยาลัย ไม่ให้จัดชุมนุม เพราะมีกลุ่มคนวงกว้าง ไม่เห็นด้วยต่อประเด็นการจัดชุมนุม โดยเฉพาะเรื่องสถาบันฯ ที่จะพูดในที่สาธารณะ ?
ในระบอบประชาธิปไตย เรายืนบนหลักของเสรีภาพ ทั้งการแสดงออกและการแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่งธรรมชาติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเราสามารถพูดเรื่องอะไรก็ได้ และในชีวิตประจำวันในมหาวิทยาลัยยามปกติ เราก็พูดเรื่องสถาบันฯ เป็นปกติ แต่ไม่มีใครว่าอะไรเพราะทุกคนเคารพสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของเรา ของทุก ๆ คน หนูคิดว่าเนเจอร์ (ธรรมชาติ)ของธรรมศาตร์เป็นอย่างนี้ แต่ผู้บริหารไม่เห็นหรืออย่างไร ซึ่งผู้บริหารเองก็เป็นคนที่ทำให้เห็นบรรยากาศความเป็นเสรีภาพทุกตารางนิ้วของธรรมศาสตร์ ก็เพื่อให้เปิดรับคนไม่ใช่หรือ เพื่อเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ให้บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ และเมื่อมันกำลังเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่ให้ใช้สถานที่ ทำแบบนี้กับเราไม่ได้ จะพูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่จะไม่พูดเรื่องสถาบันฯ ไม่ได้
คาดหวังการเปลี่ยนแปลงอะไรมากที่สุดในข้อเสนอ 10 ข้อนี้ ?
หนูคาดหวังเรื่องการยกเลิก มาตรา 112 เพราะเรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึง ถูกวิจารณ์มาระยะหนึ่งแล้วในสังคม และมีการวิพากย์วิจารณ์ด้วยเหตุผลตามหลักการ ซึ่งมาตรานี้ ถ้ายังมีอยู่ จะทำให้ผู้คนไม่กล้าออกมาวิจารณ์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปสถาบันฯ ได้มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ออกแถลงการณ์ให้ผู้บริหารธรรมศาสตร์พิจารณาตัวเอง ที่ไม่ให้จัดการชุมนุม หมายถึงอะไร ?
อยากให้มหาวิทยาลัย ทบทวนอีกรอบว่า สิ่งที่อาจารย์ประกาศออกมาไม่ให้เราจัดชุมนุม สมควรแล้วหรือไม่ อยากย้ำอีกครั้งว่า อาจารย์เป็นอาจารย์ของธรรมศาสตร์ เป็น อธิการบดีของธรรมศาสตร์ ที่เป็นมหาวิทยาลัยซึ่งมีประวัติศาตร์ทางการเมืองมายาวนาน ขอให้ทบทวนอีกรอบว่า สิ่งที่ธรรมศาสตร์กำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ ตามหลักการประชาธิปไตยและหลักเสรีภาพทุกตารางนิ้วตามที่อาจารย์บอก หนูผิดหวังมากเพราะครั้งแรกที่หนูเข้ามาตอนปฐมนิเทศก์มหาวิทยาลัย มีการพูดถึงจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ มีการแสดง แสงสีเสียง ที่ทำให้เราซึบซับการต่อสู้ของพี่ ๆ รุ่นก่อน พูดถึงความเป็นธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัย เป็นตลาดวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ตอนนี้ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องการที่สุด ต้องการใช้ชื่อธรรมศาสตร์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่กลับไม่ให้เราใช้
ในฐานะเป็นหนึ่งในแกนนำหลัก อยากเห็นภาพหลังการเสร็จการชุมนุม 19 -20 ก.ย.63 อย่างไรบ้าง?
มองว่า 10 ข้อเสนอของเรา และข้อเสนออื่น ๆ บนเวทีนี้ จะถูกรับฟังและนำไปดำเนินการอย่างจริงจัง จะต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนได้ คาดหวังว่าหลังจากวันที่ 19 -20 ก.ย. นี้ จะมีการนำเสนอข้อเสนอของเราไปดำเนินการ อย่างค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปก่อนก็ได้ แต่ขอให้เขาทำกันจริงจัง รวมถึงการขับเคลื่อนตามแนวทาง 3 ข้อเรียกร้องที่กลุ่ม "ประชาชนปลดแอก" เคลื่อนไหว คือ หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำไปควบคู่กัน
การจัดการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาตั้งแต่ต้นปี รวมถึงของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของรัฐสภา - รัฐบาลอย่างไรบ้าง ?
ที่ผ่านมา หนูมองว่า สภาไร้ประโยชน์ เพราะถ้าสภาฯ ขับเคลื่อนอะไรได้จริง พวกหนูไม่จำเป็นต้องโดดเรียนมาทำกิจกรรม หรือขับเคลื่อนอะไร เวลานี้ เป็นเวลาของการขับเคลื่อนนอกสภาฯ ของนักศึกษา ของภาคประชาชน มาส่งเสียงความต้องการของเรา แต่สภาฯ ไม่เคยพูดถึง
สภาฯ ควรรับข้อเสนอของเราเพื่อไปพูดคุยในสภาฯ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะ 10 ข้อเรียกร้องข้อนักศึกษา ทำให้มันออกมาเป็นรูปธรรมจริง ๆ ทำตามข้อเสนอจริง ๆ มันอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย แต่สภาก็ต้องทำให้เห็นว่า ทำได้จริง ๆ ไม่ใช่แค่รับฟังในชั้นกรรมาธิการฯ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าว่าต่อไปจะไม่ใครเชื่อมั่นระบบรัฐสภา
เรื่อง/ภาพ : ภัทราพร ตั๊นงาม
ข้อมูลเพิ่มเติม :
- น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นหัวหน้ากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
- เป็นหนึ่งในแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งปรเทศไทย (สนท.)
- ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปี 3 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ธรรมศาสตร์" กับการปฏิรูป ผ่าประเด็นร้อนก่อนชุมนุม 19 ก.ย.นี้
เช็กเส้นทางเลี่ยงชุมนุมใหญ่ มธ.ท่าพระจันทร์ 19 ก.ย.นี้