วันนี้ (18 ก.ย.2563) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก ประเมินความเสี่ยง สำรวจและวางแผนดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมทั้งจัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และดำเนินการ ตามแผนรับมือป้องกันน้ำท่วมสถานบริการและเตรียมจุดบริการสำรองนอกโรงพยาบาล
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย
สำรวจเส้นทางการขนย้ายผู้ป่วย หากเกิดน้ำท่วมโรงพยาบาล หรือน้ำท่วมเส้นทางเข้า-ออก สำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์และออกซิเจนให้เพียงพอ และตรวจสอบระบบระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ สำรองน้ำมัน ระบบสำรองไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟ ให้พร้อมใช้งาน 24 ชั่วโมง
ขณะที่กรมอนามัย ได้สั่งการให้ศูนย์อนามัยทั่วประเทศเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และอุปกรณ์ด้านอนามัย สิ่งแวดล้อม รองรับหากเกิดน้ำท่วม เช่น การจัดการสุขาภิบาลอาหาร การจัดการขยะ จัดหาน้ำสะอาด และชุดนายสะอาด ประกอบด้วย ถุงดำขนาดใหญ่สำหรับใส่ขยะ ถุงดำเล็กสำหรับใส่อุจจาระ น้ำยาล้างจาน สบู่ หยดทิพย์หรือคลอรีนน้ำ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ
ทั้งนี้ ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ควรถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะ ออกจากร่างกาย แต่หากอยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบานและอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อลดอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยขอให้ยึดหลัก "3 ห้าม 2 ให้" เพื่อป้องกันการจมน้ำในช่วงน้ำท่วม โดย 3 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามเล่นน้ำ 2.ห้ามหาปลา เก็บผัก 3.ห้ามดื่มสุรา และ 2 ให้ ได้แก่ 1.ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย เช่น ถังแกลลอน ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝา และ 2.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อคอยดูแลซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้ระวังสัตว์มีพิษที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้าน