วันนี้ (21 ก.ย.2563) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดใจก่อนเกษียณอายุราชการ โดยระบุว่า ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ 2 ปี รู้จักกับสื่อมวลชนมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในห้วง 30 กว่าปีที่ผ่านมาก็ได้สัมผัสกับสื่อหลายๆ คน ยังจำภาพความเปลี่ยนแปลงทั้งทางทหาร ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงในการทำข่าว และแต่อยากให้สื่อมวลชน ยึดความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวที่เป็นสาระและอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริง
สายตาที่มองกันความจริงใจที่มีให้กับนักข่าว การวางตัวในสื่อต่างๆที่คุยกันได้ และการให้ข่าว ความเป็นกลางในการนำเสนอเรื่องที่เป็นสาระอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่ข่าวบางข่าว เป็นเทคนิคการตลาดที่จะดึงดูดให้เว็บไซต์ เพจ หนังสือพิมพ์ ของตัวเองน่าสนใจเพื่อเรียกคนดู เปรียบเหมือน ทุกครั้งที่ผมพูด และสื่อสารว่าผมสนใจโซเชียล แม้ว่าตัวเองจะไม่มีเฟซบุ๊ก และอินสตราแกรม แต่สนใจความเปลี่ยนแปลง
ผมพูดหลายครั้งว่า ทหารความสำคัญมากที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา เราไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของเราในฐานะผู้บังคับบัญชา ผ่านแอปพลิเคชันใดในโลก ที่จะทำให้ลูกน้องเรารู้สึกว่าเราดูแลเอาใจใส่มากกว่าการลงไปทำให้เห็น
ชี้วาทกรรมคือเรื่องจริงในชาติ
นอกจากนี้พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการให้ข่าวของ ผู้บัญชาการทหารบก แต่ละท่าน ต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ส่วนตัวเองเมื่อให้ข่าว มีทั้งคนชมและคนด่า อยู่เสมอ แต่ก็ชินแล้ว เพราะโดนมาเยอะ
ผมโดนมาเยอะแล้ว โขกหัวตลอด ผมลงในสื่อบางฉบับมากที่สุด และหลายอย่างที่พูดมาก็เป็นวาทกรรม แต่ทุกอย่างนั้นคือเรื่องจริงในชาติบ้านเมือง จึงขอสื่อมวลชนยึดความเป็น กลางในการนำเสนอข่าวที่เป็นสาระและอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริง
ผบ.ทบ.กล่าวอีกว่า หลังจากเกษียณราชการไป คงไม่มีโอกาสมาให้ข่าวสื่อ แต่ขอให้สื่อรักษาจรรยาบรรณ จริยธรรม เป็นสิ่งที่ยังต้องดำรงอยู่ไว้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดใดก็ตาม การรักใคร ชอบใครต้องคำนึงถึงมนุษยธรรม และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศชาติบ้านเมือง ที่มีอัตลักษณ์ของประเทศชาติ ที่ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเอง
จะเชียร์หรือด่า ตนไม่เคยรู้สึกอะไร ไม่ได้โกรธ หรือ น้อยใจ
ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ แนะนำสื่อไปดูภาพยนตร์เรื่อง The social dilemma มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่าประสบการณ์ของผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย และพูดถึงผลลัพธ์จากการเสพสื่อโซเชียลเป็นประจำ ทั้งในแง่ผลดีและผลเสีย