วันนี้ (22 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดเผยเอกสารเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ส่งแรงกระเพื่อมตีกลับไปยังธนาคารยักษ์ใหญ่ในหลายประเทศ เอกสารเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการทำธุรกรรมต้องสงสัยต่างๆ รวมมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ตัวละครหลักคือ FinCEN หรือ Financial Crimes Enforcement Network หน่วยงานในกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมต้องสงสัย หรือ SARs ด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ธนาคารจะต้องส่งรายงานการทำธุรกรรมต้องสงสัยให้แก่หน่วยงานนี้ แต่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานการกระทำผิดตามกฎหมาย ธนาคารและสถาบันการเงินจะต้องรู้จักภูมิหลังของลูกค้าและระงับการทำธุรกรรมที่ไม่ชอบมาพากล
เอกสารหลุดมีจำนวนมากถึง 2,657 ฉบับ ในจำนวนนี้ 2,121 ฉบับเป็นรายงานธุรกรรมต้องสงสัยของธนาคาร เอกสารส่วนนี้ชี้ให้เห็นถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน มูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2543-2560 รวมทั้งเปิดโปงพฤติการณ์ของธนาคารชั้นนำในการปล่อยให้มีการทำธุรกรรมผิดปกติ การฟอกเงิน และการก่ออาชญากรรมทางการเงิน ขณะที่พนักงานของธนาคารรายใหญ่ มักใช้กูเกิลในการตรวจสอบภูมิหลังของลูกค้าผู้อยู่เบื้องหลังการทำธุรกรรม
โดยชื่อของ HSBC, J.P.Morgan, Deutsche Bank, Standard Chartered และ BNY Mellon ปรากฏอยู่ในรายงานมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีรายงานการทำธุรกรรมต้องสงสัยผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทย 4 แห่ง มูลค่ารวม 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,294 พันล้านบาท
เอกสารรั่วบน Buzzfeed ก่อนมาถึงมือเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ ที่มีสามาชิกกว่า 400 คนจาก 88 ประเทศ การรั่วไหลของเอกสาร FinCEN แสดงให้เห็นขอบเขตกิจกรรมทางการเงินต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับบริษัทและบุคคลทั่วโลก
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความโปร่งใส การมีธรรมาภิบาลของธนาคารชั้นนำเหล่านี้ว่าปล่อยไปได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ธนาคารและสถาบันการเงินรับรู้อยู่แล้วว่าเป็นธุรกรรมการเงินที่เข้าข่ายต้องสงสัย หรือมุ่งหวังแต่ผลกำไรเป็นหลัก