ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลฎีกาฯ ให้ประกันตัว "วัฒนา เมืองสุข" ห้ามออกนอกประเทศ

การเมือง
24 ก.ย. 63
18:03
1,141
Logo Thai PBS
ศาลฎีกาฯ ให้ประกันตัว "วัฒนา เมืองสุข" ห้ามออกนอกประเทศ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายวัฒนา เมืองสุข พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หลังยื่นหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท

วันนี้ (24 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความคืบหน้ากรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามกฎหมายอาญามาตรา 148 กระทงละ 9 ปี รวม 11 กระทง จำนวน 99 ปี แต่ให้จำคุกจริง 50 ปี คดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ เมื่อปี 2548

นายวัฒนา เปิดเผยภายหลังฟังคำตัดสินของศาล ว่า ได้ยืนประกันตัวตามสิทธิ์ ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว วางหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศก่อนได้รับอนุญาต ส่วนเหตุที่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนั้น เพราะเห็นว่าตัวเองไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีคดี ประกอบกับในการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์นั้นจะเป็นผู้ว่าความเอง ซึ่งต้องจัดเตรียมคดีและเอกสารหลักฐานที่อยู่ในไฟล์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนหลายหมื่นหน้าด้วยตัวเอง ศาลจึงพิจารณาเห็นควรให้ประกันตัว เพื่อได้ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คดี

ยื่นคำร้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

ส่วนการอุทธรณ์คดีนั้น นายวัฒนา ระบุว่า ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ต่อสู้คดี แต่เป็นการอุทธรณ์คัคค้านดุลยพินิจของศาล เช่น ข้อเท็จจริงที่ตัวเองเห็นไม่ตรงกับศาล โดยจะยื่นคำร้องภายใน 30 วัน ส่วนกรณีที่สามารถยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ถือว่าเป็นการได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าหลักการอุทธรณ์เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี

ดังนั้นหากเป็นสมาชิกของยูเอ็นจะต้องยอมรับในกฎกติกาและนำมาปฏิบัติ นำมาแก้กฎหมายซึ่งในกติกาเขียนไว้ด้วยว่า การพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลย ซึ่งกรณีนี้ก็ถือว่าไม่ได้ทำ รวมถึงการอุทธรณ์ในคดีอาญา จำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลที่สูงกว่า แต่คดีนี้ต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะคดีตั้งต้นที่ศาลฎีกา ทั้งที่ความจริงต้องตั้งต้นที่ศาลอุทธรณ์จึงจะถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลยทุกคนทั่วโลก ดังนั้นรัฐธรรมนูญปี 60 จึงไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับตัวเอง

สำหรับคดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายวัฒนา และพวกรวม 14 คน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก "วัฒนา เมืองสุข" 99 ปี คดีบ้านเอื้ออาทร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง