ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟ้องศาลปกครองสงขลา สั่งกรมโยธาฯ หยุดทำลาย “หาดมหาราช”

สิ่งแวดล้อม
25 ก.ย. 63
14:15
717
Logo Thai PBS
ฟ้องศาลปกครองสงขลา สั่งกรมโยธาฯ หยุดทำลาย “หาดมหาราช”
ชาวบ้านฟ้องศาลปกครองสงขลา ขอไต่สวนฉุกเฉิน ให้ กรมโยธาธิการฯ สั่งผู้รับเหมา หยุดโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นหาดมหาราช ชี้ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประมงพื้นบ้าน

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ศาลปกครองสงขลา ชาวบ้านจาก อ.สทิงพระ จ.สงขลา เดินทางมาฟ้องศาลปกครองสงขลา ให้ยุติโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นชายหาดมหามหาราช ซึ่งเป็นโครงการที่จะผลกระทบต่อระบบนิเวศชายหาด อย่างรุนแรง

แต่ปรากฎว่า กลุ่มสนับสนุนการสร้างเขื่อนกั้นคลื่นชายหาดมหาราช เดินทางมาเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ฟ้องคดี ขอให้มีการพูดคุยกันก่อน อย่าเพิ่งฟ้องศาลปกครอง แต่กลุ่มผู้ฟ้องไม่ยินยอม ยืนยันยื่นฟ้องศาล

ฟ้องศาลปกครองจี้โยธาฯ หยุดเขื่อนกันคลื่น

นายนิธิวัฒน์ ชินพงศ์ ตัวแทนประชาชนมหาราช ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวว่า การฟ้องศาลปกครองให้ยุติโครงการมีผู้สนับสนุนการฟ้องคดีจำนวน 218 คน ได้ยื่นฟ้องคดี กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมเจ้าท่า เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาค สาขาสงขลา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

นายนิธิวัฒน์กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายฝั่งทะเล (เขื่อนกั้นคลื่นชายหาด) พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อ.สิทงพระ ระยะที่ 1 ความยาว 92 เมตร ระยะที่ 2 ความยาว 1,102 เมตร และระยะที่ 3 ความยาว 550 เมตร รวมทั้งสิ้น 1744 เมตร

โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบขั้นบันได พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ริมชายหาดมหาราช

การดำเนินโครงการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี มีความเห็นว่าโครงการนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเชิงเนื้อหา และเชิงกระบวนการ

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหา เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างแท้จริง และเป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องกระทำ อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว

ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน

โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่คุณภาพของสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ของชุมชน ยิ่งกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ และขัดต่อหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายในเชิงกระบวนการ คือ 1.การดำเนินการโครงการนั้นมีความบกพร่อง ในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และรอบด้าน

2.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมาย

เนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งหรือกำแพงกันคลื่น มีลักษณะเป็นการสร้างโครงสร้างแข็ง ยื่นลงไปในทะเล ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทะเล ชายหาด และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านด้านน้ำของโครงการ

เลี่ยงทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จากบทเรียนในประเทศและต่างประเทศพบว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าว ทำให้พื้นที่ชายหาดด้านหน้ากำแพงกันคลื่นหายไป เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านท้ายน้ำ เป็นเหตุให้ต้องก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ

ถึงแม้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้ถอดถอนกำแพงกันคลื่นออกจากโครงการที่ต้องจัดทำ EIA แต่เนื่องจาก ในทางกฎหมายนั้น การดำเนินโครงการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้อง คำนึกถึงหลักพึงระวังไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยต้องทำการศึกษาผลกระทบอย่างรอบครอบ รอบด้าน ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

เป็นโครงการที่ไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง

3.โครงการดังกล่าวนั้น มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องในการขออนุญาตหรืออนุมัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ อันได้แก่ การขออนุญาตเจ้าท่า เพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และ การขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน

การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดมหาราช โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้น หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ชายฝั่งทะเลหาดมหาราช และชายฝั่งในอ.สทิงพระ เกิดการเปลี่ยนแปลง พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะหายไป

เกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของโครงการ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสทิงพระ และพื้นที่ใกล้เคียงที่เคยอาศัยใช้ประโยชน์หาดทรายในการนันทนาการ การประมงริมชายฝั่ง ไม่สามารถที่จะดำเนินตามวิถีชีวิตอันเป็นปกติได้

ก่อสร้างทับชายหาด-กระทบประมงพื้นบ้าน

อีกทั้ง โครงการในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ยังเป็นการก่อสร้างทับพื้นที่ชายหาดที่มีชุมชนประมงชายฝั่งอาศัยใช้ประโยชน์หาดทราย ในการจอดเรือ วางอวน กว่า 20 ครัวเรือน

ซึ่งการดำเนินโครงการนี้จะทำให้ชาวประมงริมชายฝั่งไม่สามารถจอดเรือได้ เพราะไม่มีพื้นที่ชายหาด และไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ตามปกติ มิหนำซ้ำการดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นการซ้ำเติมเพิ่มปัญหา ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง

ชี้ ทช.ละเลยหน้าที่ คุ้มครองชายหาด

ด้านนายวิชัย เเก้วนพรัตน์ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะและชายฝั่ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์ รักษา และคุ้มครองทรัพยากรหาดทราย แต่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีหน้ามีหน้าที่พิทักษ์รักษา คุ้มครองทรัพยากรหาดทรายไม่ให้เกิดความเสียหาย เสื่อมโทรม และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งจากโครงสร้างแข็ง

ซึ่งในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของผู้ฟ้องคดีทั้งสามและผู้สนับสนุนการฟ้องคดี 218 คน ออกมาปกป้องชายหาดมหาราช

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 และประชาชนผู้สนับสนุนการฟ้องคดี 218 คน จึงนำคดีมาสู่ศาลปกครอง

จี้งดอนุญาตสร้างเขื่อนริมทะเล

ด้านนายอภิชาติ สังข์ทอง ผู้ฟ้องคดีที่ 3 กล่าวว่า คำฟ้องที่ทางคณะผู้ฟ้องได้ยื่นฟ้องโดยขอศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษา ว่า

1.โครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อ.สทิงพระ จ.สงขลา ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ของกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด

2.ขอให้เพิกถอนการอนุญาตที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 อนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เข้าดำเนินการโครงการบนพื้นที่ชายหาด

3.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกัน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ออกจากบริเวณชายหาดมหาราชทั้งหมด และให้ปรับสภาพพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง

หวังพึ่งศาลปกครอง ร้องหลายหน่วยงานแต่ไร้ผล

นายอภิชาติกล่าวอีกว่า ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ประชาชนชาวมหาราช และผู้ที่มีหัวใจรักชายหาด ได้พยายามทุกหนทางในการทั้งการร้องเรียนหน่วยงาน 10 ฉบับ แต่ยังไม่มีหนทางใด ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกโครงการ และฟื้นฟูสภาพชายหาดให้กลับมาดังเดิมได้ ศาลปกครองจึงเป็นความหวังที่จะเป็นการปกป้อง พิทักษ์รักษาหาดทรายไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป

ฝ่ายหนุนสร้างเขื่อนริมหาด ขอเคลียร์ชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านกลุ่มผู้ฟ้องคดีเดินทางมาที่ศาลปกครองสงขลา ช่วงประมาณ 13.00 น ต่อมา กลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนซึ่งคาดว่า เป็นบริษัทรับเหมาโครงการก่อสร้างของกรมโยธาฯ ได้ขับรถตามเข้ามาในบริเวณศาลปกครอง ประมาณ 8-9 คัน น่าจะมีคนประมาณ 40-50 คน

หลังจากนั้นฝ่ายสนับสนุนลงมาจากรถแล้ว ก็มีการเป่านกหวีดและเตรียมป้ายสนับสนุนโครงการประมาณ 10 กว่าแผ่น

ทางด้านตัวแทนผู้สนับสนุนก็เข้ามาคุยกับชาวบ้าน ที่เตรียมยื่นฟ้องศาล โดยขอเจรจาไกล่เกลี่ยว่า อย่าเพิ่งฟ้องคดีได้ไหม ให้มีการคุยกันก่อน เดี๋ยวเขาจะเปิดพื้นที่คุยหน้าหาดมหาราช จุดที่ก่อสร้างโครงการให้

ทางด้านชาวบ้านยืนยันว่า ไม่คุยจะฟ้องคดีแล้วก็จะไม่มีการไกล่เกลี่ย หากจะเคลียร์ก็ให้ไกล่เกลี่ยในชั้นของศาล หลังจากนั้นชาวบ้านก็เดินเข้ามายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา

ด้านฝ่ายสนับสนุนโครงการฯ ก็ได้ติดตามเข้ามานั่งดูการยื่นฟ้องประมาณ 30 นาที ฝ่ายสนับสนุนก็ทยอยเดินทางกลับออกไปจากศาลปกครอง

ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากชาวบ้านยื่นฟ้องศาลปกครองสงขลา โดยมีคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเนื่องจากศาลต้องรับฟังคู่กรณีอีกฝ่ายก่อน จึงยกคำร้องฉุกเฉิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง