วันนี้ (26 ก.ย.2563) สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคลิปวิดีโอครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ทำร้ายเด็กนักเรียนอนุบาลหลายคน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ปกครองจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปพบผู้บริหารและครูที่โรงเรียนเพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผู้ปกครองคนหนึ่ง ระบว่า ครูที่อยู่ในคลิปวิดีโอได้ทำร้ายเด็กบริเวณศีรษะ และผลักจนล้มลงกับพื้น พร้อมโยนข้าวของให้เด็กคลานไปเก็บ รวมถึงมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ปกครองได้สังเกตอาการเด็กพบว่า ลูกไม่อยากไปโรงเรียน และหลังจากกลับจากโรงเรียนจะรู้สึกหิว มีอาการผวา ไม่ร่าเริง ตื่นช่วงกลางดึก และมีรอยหยิก รอยช้ำตามร่างกาย
เห็นตึกไม่กล้าเข้า ร้องไห้ ยังไงก็ไม่ยอมเข้า เห็นเสื้อโรงเรียนไม่อยากใส่ ตอนนี้ลูกผมสภาพจิตใจแย่มาก
ล่าสุด ผู้ปกครองได้รวบรวมหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอวงจรปิดภายในห้องเรียนในวันเกิดเหตุเดินทางเข้าแจ้งความกับตำรวจภูธรชัยพฤกษ์แล้ว พร้อมขอดูกล่องวงจรปิดย้อนหลังเพิ่มเติมนอกจากวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบว่าเด็กคนใดถูกทำร้ายบ้าง พร้อมเจรจรากับผู้บริหารโรงเรียนว่าไม่ต้องการให้ครูผู้ก่อเหตุรวมถึงครูที่อยู่ในห้องช่วงที่เกิดเหตุสอนในโรงเรียนอีกต่อไป
หมอเด็กแนะสังเกตอาการลูกถูกทำร้ายจากโรงเรียน
ขณะที่ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมินบานเย็น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เผยแพร่ข้อความผ่านเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ระบุว่า จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่เห็นในคลิปที่เกิดขึ้นสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ ครูทำเด็กต่อหน้าเพื่อนๆ จนนำมาสู่การแจ้งความของผู้ปกครอง การกระทำของครูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไป
ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าการทำร้าย ทำโทษเด็กรุนแรง เป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะต้องการจะสั่งสอนเด็ก แต่การทำรุนแรงเกินไป จะทำให้มีผลกระทบทางกายและจิตใจแน่นอน นอกจากเด็กที่ถูกกระทำโดยตรง เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วย
พญ.เบญจพร ระบุว่า หลายครั้งที่หมอเคยตรวจเด็กที่พ่อแม่พามาหาเพราะมีความเครียด จากการอยู่ในเหตุการณ์ที่เพื่อนถูกครูทำโทษรุนแรง เด็กก็เกิดความเครียดเช่นกัน จริงๆ แล้วเหตุการณ์ที่เห็นไม่ใช่ครั้งแรกที่เด็กถูกผู้ใหญ่กระทำรุนแรงอย่างไม่เหมาะสม มีผู้ปกครองพาเด็กมาตรวจด้วยเรื่องนี้เป็นระยะ
ยิ่งเป็นเด็ก ความพร้อมทางจิตใจก็ยิ่งไม่เหมือนผู้ใหญ่ เด็กเล็กบางครั้งยังเล่าอะไรไม่ได้ชัดเจน เพราะพัฒนาการทางภาษายังไม่ดี แต่เด็กเล็กจะแสดงออกถึงความไม่สบายใจผ่านการเล่น วาดรูป เด็กอาจจะเล่นซ้ำๆ เป็นธีมที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เจอมา ผู้ปกครองจึงต้องมีความเข้าใจอาการแสดงของเด็กที่มีความเครียดจากการประสบเหตุการณ์มีลักษณะคุกคามจนทำให้กลัวอย่างมาก
เด็กบางคนอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ใจสั่น เวลาที่มีอะไรที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้นๆ เด็กมีอาการตื่นกลัว ตกใจง่าย บางคนนอนไม่หลับ นอนสะดุ้ง ละเมอ บางคนอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยน อารมณ์หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวขึ้น หรืออาจจะไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน การเรียนตกลง
หากมีการถูกกระทำบ่อยๆ รุนแรงและเป็นระยะเวลายาวนาน ผลกระทบก็จะยิ่งมากขึ้น ซึ่งอาจพบได้ทั้งผลกระทบระยะต้นและระยะยาว มีผลต่อคุณค่าในตัวตน มุมมองที่มีต่อตัวเองและคนรอบข้าง มีความคิดลบ มีปัญหาสุขภาพจิตเช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ในอนาคตได้
ทั้งนี้ พญ.เบญจพร ระบุว่า หากพบว่าเด็กมีอาการดังกล่าว เบื้องต้น ควรจะทำความเข้าใจ มองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด ถ้าไม่แน่ใจควรหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น จากครู จากเพื่อน ส่วนผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กๆ มีความจำเป็นต้องมีความพร้อม ตระหนักเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง ถ้ามีปัญหาอย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรจะจัดการ มิฉะนั้นอาจจะเกิดผลกระทบกับเด็กที่ดูแลอยู่ก็ได้
ถ้าแก้เองไม่ได้ ควรหาตัวช่วย หรือไปพบจิตแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือ เพื่อความพร้อมที่จะไปดูแลคนอื่น โดยเฉพาะเด็กๆ
สิ่งที่สำคัญเช่นกัน คือ ผู้ใหญ่ที่เห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็กไม่ควรเพิกเฉย และควรมีความตระหนัก ไม่ควรคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ในคลิปนั้น หมอเห็นว่ามีผู้ใหญ่อื่นๆ ที่อยู่ในคลิปด้วย แต่ไม่มีใครที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กเลย ซึ่งตรงนี้เขาอาจมีเหตุผลที่หมอไม่ทราบ แต่หมอก็รู้สึกสะเทือนใจบอกไม่ถูก