ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : พิรุธเปิดโรงงานขยะทุนจีน ตอน 2

สิ่งแวดล้อม
30 ก.ย. 63
20:01
652
Logo Thai PBS
THE EXIT : พิรุธเปิดโรงงานขยะทุนจีน ตอน 2
ธุรกิจโรงงานประเภทคัดแยกและรีไซเคิลพลาสติกขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 5 ปี ซึ่งกลุ่มทุนเบื้องหลังโรงงานพบว่าส่วนใหญ่มาจากทุนจีน และมีคนในประเทศอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตและหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน

วันนี้ (30 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "น้ำ" จากบ่อที่ชาวบ้านในหมู่บ้านหนองน้ำดำ ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เคยสูบขึ้นมาเก็บไว้ใช้อุปโภคบริโภค ไม่สามารดื่นกินได้เหมือนแต่ก่อน ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ตั้งแต่มีโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสียเข้ามาตั้งไม่ห่างจากหมู่บ้าน พวกเขามักจะพบวัตถุคล้ายเหม่าสีดำปนเปื้อนมากับน้ำฝน โดยเฉพาะช่วงที่โรงงานเปิดเดินเครื่อง ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีสารอันตรายไหลซึมลงสู่น้ำใต้ดินด้วยหรือไม่

 

นอกจากสารปนเปื้อนน้ำ กลิ่นเหม็นจากกระบวนการหลอมของเสียเพื่อผลิตพลาสติก ยังเป็นปัญหาที่ถูกชาวบ้านร้องเรียนมาโดยตลอด ถึงขั้นรวมตัวไปประท้วงหน้าโรงงาน โดยชาวบ้านบอกว่า กลิ่นเหม็นมีลักษณะคล้ายการเผาไหม้ขวดยาฆ่าหญ้า สูดดมเข้าไปมีอาการวิงเวียน บางคนถึงขั้นอาเจียน พวกเขายังบอกอีกว่าการประท้วงครั้งล่าสุด ตัวแทนโรงงานยอมรับว่าเกิดจากความผิดพลาดของระบบเครื่องกรอง และกำลังอยู่ในขั้นตอนแก้ไขปรับปรุง

เมตตา ใหม่หะวา ชาวบ้าน ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินติดกับพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน บอกว่า เดิมทีที่นี่เป็นโรงงานผลไม้ และพบว่ามีการเปลี่ยนไปยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทคัดแยกและรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยที่เธอในฐานะเจ้าของที่ดินติดกัน ไม่เคยได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

เมตตา บอกอีกว่า หลังโรงงานเปิดดำเนินการเริ่มพบความเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา โดยเฉพาะสีของน้ำในบ่อดิน ที่แม้จะอยู่ห่างกันเพียงถนนกั้น แต่ก็มีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ที่ผ่านมาเคยร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำน้ำในที่ดินไปตรวจหาสารปนเปื้อน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

 

จากข้อมูลพบว่า ในพื้นที่หมู่ 9 ต.เกาะขนุน มีการยื่นขออนุญาตประกอบกิจการประเภทโรงงานลำดับที่ 105 คือ โรงงานคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และประเภทโรงงานลำดับที่ 106 คือ นำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงาน มาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม ปรากฎชื่อบุคคลและบริษัทเพียงไม่กี่กลุ่มเป็นผู้ขอใบอนุญาต

สอดคล้องกับข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ระบุว่า เฉพาะในพื้นที่หมู่ 9 มีใบอนุญาตโรงงานทั้ง 105 และ 106 รวมกันมากกว่า 30 โรง และยังพบว่าในเลขที่ตั้งเดียวกันมีการยื่นขอใบอนุญาตหลายใบ จนนำมาสู่การตั้งข้อสังเกต

ข้อมูลการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ช่วงปี 2558 - 2563 เฉพาะ 10 กลุ่มจังหวัด พบว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประเภทโรงงานลำดับที่ 53 ใน 10 จังหวัด มีโรงงานได้รับใบอนุญาต 1,307 ใบ, ประเภทโรงงานลำดับที่ 105 มีโรงงานได้รับใบอนุญาต 403 ใบ, ประเภทโรงงานลำดับที่ 106 มีโรงงานได้รับใบอนุญาต 288 ใบ

 

ตัวเลขใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องกับ "รีไซเคิล" ที่เพิ่มสูงขึ้น ถูกมองว่าสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ประเทศจีนประกาศชะลอและยุติการนำเข้าขยะ ซึ่งดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสและที่ปรึกษาชุมชนมูลนิธิบูรณะนิเวศ มองว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้กิจการประเภทนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ความเดือดร้อนของชุมชนรอบสถานประกอบการประเภท "รีไซเคิล" อย่างกรณีที่ชาวบ้านหนองน้ำดำต้องเผชิญ กำลังเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจประเภทนี้ในพื้นที่ภาคตะวันออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : พิรุธเปิดโรงงานขยะทุนจีน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง