จากอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ ปัจจุบัน นายดำรง ลีนานุรักษ์ ใช้ชีวิตวัยเกษียณอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษางานศิลปะและโบราณวัตถุ ปัจจุบันเขาเป็นคณะกรรมการการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งแต่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2560
ภาพ : นายดำรง ลีนานุรักษ์
10 ปีแล้วที่นายดำรงใช้เวลาช่วงกลางวันปลูกกล้วยไม้ และ ศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณศิลปะที่ตนเองสนใจในช่วงเวลากลางคืน เขาสืบค้นไปเรื่อยๆ จนพบกรณีการคืนวัตถุโบราณจากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกากลับไปยังกัมพูชา ทำให้เขาเกิดคำถามว่า ทำไมจึงไม่มีกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ก่อนรัฐบาลไทยจะแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศฯ ผมสนใจศึกษาเรื่องการทวงคืนในต่างประเทศและสืบค้นกรณีการทวงคืนวัตถุโบราณในอดีตจนมาเจอกับกลุ่มสำนึก 300 องค์ นำโดย อ.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ซึ่งกำลังรณรงค์ให้รัฐบาลไทยทวงคืนพระโพธิสัตว์กรุเขาปลายบัด หรือ พระสำริดกรุประโคนชัยจากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ กลับคืนมาไทย เลยได้เข้ามาทำงานร่วมกันและเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มสำนึก 300 องค์
ภาพ : พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย จากปราสาทเขาปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ความสูง 142.2 เซนติเมตร คือ ประติมากรรมสำริดศิลปะไพรกะเม็ง ขนาดใหญ่ที่สุด งดงามที่สุด และมีมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาพระสำริดกรุประโคนชัยทั้งหมด ปัจจุบัน จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ The Metropolitan (The MET) เมืองนิวยอร์ก
ประติมากรรมชิ้นนี้ นายเบน เฮลเลอร์ (Ben Heller) นักค้าศิลปะและโบราณวัตถุชื่อดังชาวอเมริกันขายให้กับพิพิธภัณฑ์ The MET เมื่อ พ.ศ. 2510
ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นพระสำริดกรุประโคนชัย 1 ใน 18 ชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1. The Metropolitan Museum of Art 2. Asian Art Museum of San Francisco 3. Norton Simon Museum 4. The Asia Society Galleries 5. The Denver Art Museum 6) Kimbell Art Museum 7) Philadelphia Museum of Art
จากหลักฐานต่างๆ ชี้ว่าประติมากรรมสำริดทั้งหมดมาจากปราสาทเขาปลายบัด 2 อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นแหล่งพระสำริดกรุประโคนชัยจำนวนมากกว่า 300 องค์
นายดำรง บอกว่า ปัจจุบัน ไม่มีประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัยเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในไทย และ เขา พบว่า มีเพียงประเทศสหรัฐฯ เท่านั้นที่มีช่องทางเอื้อให้ประเทศไทยทวงคืนวัตถุโบราณคืนจากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐฯ โดยอาศัยกฎหมายของสหรัฐที่ชื่อว่า The National Stolen Property Act ซึ่งว่าด้วยการครอบครองของโจร
กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว แต่เดิมเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขโมยรถยนต์ แต่ต่อมา ถูกนำมาใช้กับวัตถุโบราณที่เป็นของโจร เนื่องจาก สืบพบว่าบางครั้งการค้าวัตถุโบราณมันสัมพันธ์กับการฟอกเงินและเลี่ยงภาษี เขาจึงต้องการปราบปรามและลดอาชญากรรมด้านนี้ให้ลดลง
โดยหลักการ กฎหมาย The National Property Act จะให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองของโจรพิสูจน์ให้ได้ว่าทรัพย์สินนั้นๆ ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หมายถึง นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย ไม่ได้ปลอมแปลงหรือสำแดงการนำเข้าเท็จ เป็นต้น แต่เนื่องจากประเทศไทยบังคับใช้พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 หมายความว่าโบราณวัตถุใดๆ ก็ตามที่ถูกนำออกนอกประเทศหลังปีดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งต่อมาพบว่าศิลปะและโบราณวัตถุไทยในพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ เกือบทั้งหมดถูกส่งออกไปต่างประเทศโดยไม่มีใบอนุญาต
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยจึงแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศฯ หลังจากกลุ่มสำนึก 300 องค์พยายามชี้ให้เห็นว่า ไทยสามารถอาศัยข้อได้เปรียบจากกฎหมาย The National Property Act และ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 เพื่อทวงคืนวัตถุโบราณไทยในพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ ได้อย่างไร
นางเอ็มมา ซี. บังเกอร์ (Emma C. Bunker) ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ผู้ตีพิมพ์งานศึกษาพระสำริดกรุประโคนชัย ระบุว่า ประติมากรรมสำริดกรุนี้ มาจากปราสาทเขาปลายบัด 2
เธอได้ออกหนังสือเกี่ยวกับประติมากรรมศิลปะเขมรร่วมกับนายดักลาส เอเจ แลธ์ชฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) ชาวอังกฤษ นักสะสมศิลปะและโบราณวัตถุในกรุงเทพและลอนดอน ถึง 3 เล่ม
นายดักลาส มีชื่อไทยว่า นายภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์ อดีตนายกสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทย เขายังเคยเป็นเจ้าของประติมากรรมสำริดกรุประโคนชัย ขนาด 22.5 เซนติเมตร ซึ่งอยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน
พ.ศ. 2562 นายดักลาสถูกอัยการเขตนิวยอร์กใต้ตั้งข้อหาค้าโบราณวัตถุผิดกฎหมาย หลังจากพบว่า เขาเป็นผู้ขายประติมากรรมศิลปะเขมรที่ถูกขโมยมาให้กับลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือนางแนนซี่ วีนเนอร์ (Nancy Weiner) นักธุรกิจค้าศิลปะและวัตถุโบราณระดับโลกที่นิวยอร์ก
นายดักลาส ถูกอัยการเขตนิวยอร์กใต้ตั้งข้อหาว่าปลอมแปลงและบิดเบือนที่มาของศิลปะและโบราณวัตถุ ทั้งนี้ ในสำนวนการสอบสวนยังระบุว่า นางเอ็มม่ามีส่วนสนับสนุนฟอกวัตถุโบราณให้กับนายดักลาสหลายครั้งเช่นกัน ทว่าปัจจุบัน นายดักลาสวัย 88 ปีเสียชีวิตที่กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกกล่าวหาจากหลายประเทศ หลายสถาบัน ว่าเป็นทางผ่านของศิลปะและโบราณวัตถุจากประเทศใกล้เคียงเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงสงครามในอดีต เช่น สมัยเขมรแดง สมัยสงครามเวียดนาม ฯลฯ ของต่างๆ ถูกส่งมาจากจากลาว กัมพูชา เข้ามายังประเทศไทย เพื่อส่งออกไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย นายดำรง บอกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนไทยควรศึกษาเรียนรู้ เพื่ออยู่กับความเป็นจริง
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน