วันนี้ (3 ก.พ.2568) ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แถลงจับกุม 2 ผู้ต้องหา ขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ ในประเทศกัมพูชา
คนแรก คือ นายรามิล เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น โดยจับกุมได้ที่บ้านพัก จ.สระแก้ว และนายธนาวุฒิ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และฟอกเงิน โดยจับกุมได้ที่บ้านใน จ.ชลบุรี
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า การจับกุมดังกล่าวมาจากการขยายผลหลังพบผู้เสียหายแจ้งความว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุแต่งตัวอ้างตัวเป็นตำรวจวิดีโอคอลมาข่มขู่ แจ้งกับผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และคดียาเสพติด ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปยังบัญชีผู้ก่อเหตุ รวมเป็นเงินมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบมีผู้เสียหายในลักษณะเดียวกัน 163 คดี จึงรวบรวมพยานหลักฐานและขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 2 คนตามหมายจับดังกล่าว
จากการสอบปากคำผู้ต้องหาให้การว่า ตัวเองทำงานอยู่ในอาคาร 18 ชั้น ที่ประเทศกัมพูชา และพักอาศัยอยู่ที่ชั้น 13 ซึ่งชั้นนี้จะมีคนพักอยู่ 50 คน โดยบริเวณอาคารจะมีคนคุมและเฝ้าที่หน้าตึกและชั้น 3 โดยชั้น 1 จะเป็นสถานที่ซื้อสินค้า ที่ผ่านมาจากข่าวที่ปรากฏพบอาคารแห่งนี้ว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากการกระโดดตึกลงมา 2 คน เบื้องต้นผู้ต้องหาอ้างถูกชักจูงให้ไปทำงานเป็นแอดมินชักชวนให้เล่นพนันเพื่อหารายได้ แต่เมื่อไปถึงกลับถูกยึดหนังสือเดินทางและโทรศัพท์ และถูกให้มาทำงานในขบวนการคอลเซนเตอร์
จากการจับกุมพบว่าขบวนการนี้ได้มีการใช้ AI ปลอมแปลงใบหน้าทำให้ยากต่อการจับกุม ส่วนเรื่องของเงินจากการตรวจสอบของตำรวจพบว่า เงินที่หลอกมาได้มีการแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ก่อนจะทำการฟอกเงินเป็นสกุลเงินต่าง ๆ ในหลายชาติก่อนจะแบ่งรายได้ให้กับผู้ร่วมขบวนการ ซึ่งตำรวจจะเร่งขยายผลติดตามตัวผู้บงการที่รับผลประโยชน์สูงสุด
ด้านนายธนาวุฒิ ให้การรับสารภาพว่า ตัวเองเป็นผู้ร่วมขบวนการของเครือข่ายคอลเซนเตอร์ ทำหน้าที่แต่งกายคล้ายตำรวจวิดีโอคอลเพื่อหลอกลวงเหยื่อจริง โดยจะวิดีโอคอลไปหลอกลวงผู้เสียหายหลายคน รวมไปถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ซึ่งในขบวนการจะมีผู้ทำหน้าที่วิดีโอคอลเพื่อหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อ 3 หน้าที่ รวม 3 สาย โดยสายแรกจะข่มขู่ว่าผู้เสียหายมีความผิดฐานฟอกเงินและเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก่อนจะโอนไปยังสายที่ 2 เพื่อพูดคุยโน้มน้าวปลอบให้เหยื่ออยู่ในสาย โดยตัวเองทำหน้าที่นี้อยู่
ก่อนจะโอนไปยังสายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ โดยบทบาทที่มีการแอบอ้างจะอ้างตัวเป็นตำรวจและเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองร้อยปอยเปตที่ทำหน้าที่พูดคุยกับผู้เสียหายรู้จักกันทุกคน ในระหว่างการหลอกลวงจะมีทั้งคนไทยและคนจีนทำหน้าที่เป็นคนควบคุม และคิดบทให้ซึ่งเมื่อไปถึงทุกคนจะโดนจับอบรม 7 วัน เพื่อเรียนรู้ว่าจะต้องทำหน้าที่อย่างไร และมีการฝึก วิธีการพูด การโทรและการหลอกคนโดยหากตัวเองไม่ปฏิบัติตามหรือต่อต้านจะถูกทำร้ายร่างกาย
ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่าทางรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาขบวนการคอลเซนเตอร์ แต่ติดปัญหาเนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างประเทศซึ่งจะต้องพูดคุยกันในระดับของรัฐบาล ยืนยันจะขยายผลเพื่อติดตามจับกุมผู้เกี่ยวข้อง มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ตํารวจสอบสวนกลาง ย้ำเตือนประชาชนว่า ตำรวจจะไม่มีการติดต่อทางไลน์หรือวิดีโอคอล เพื่อสอบปากคำหรือแจ้งข้อกล่าวหา และจะไม่มีการให้ผู้เสียหายโอนเงินหรือทรัพย์สิน มาตรวจสอบเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ รวมถึง ไม่มีการส่งเอกสารราชการทางไลน์ เช่น หมายเรียก หมายจับทางไลน์ หากพบเจอการหลอกลวงรูปแบบต่างๆ ในลักษณะข้างต้น ให้บันทึกภาพหน้าจอ หรือ อัดวิดีโอ ขณะสนทนา ส่งแจ้งเป็นเบาะแส ได้ทางเฟซบุ๊ก ตํารวจสอบสวนกลาง เพื่อนําไปสู่การสืบสวนและจับกุมต่อไป
อ่านข่าว : เจาะลึก "โรคกลัวการบิน" แค่ตื่นเต้น หรือ ภาวะทางจิตใจ ?
เปิดใจ "พล.อ.ท.อนุรักษ์" กริพเพน ฝูงบินขับไล่ เขี้ยวเล็บใหม่ ทัพฟ้า
เช็กปฏิทิน สอบ ก.พ. 2568 ขั้นตอนสอบภาค ก. รอบ Paper & Pencil