ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เฉลยแล้ว! น้ำเคมีสีฟ้า-หาตัวผู้ชุมนุมติดนาน 7 วัน

Logo Thai PBS
เฉลยแล้ว! น้ำเคมีสีฟ้า-หาตัวผู้ชุมนุมติดนาน 7 วัน
เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว เฉลยคำตอบน้ำสีฟ้าที่ตำรวจนำมาฉีดใส่ผู้ชุมนุม คาดเป็นน้ำ "เมธิลลีนบลู” เทียบกับที่ทางการฮ่องกงเคยใช้เมื่อ 1 ปีก่อน ระบุจะติดตามผิวหนังได้นาน 3-7 วัน ใช้ติดตามตัวผู้ชุมนุม

วันนี้ (16 ต.ค.2563) เพจ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ไขข้อสงสัยน้ำสีฟ้า ที่เจ้าหน้าที่ฉีดใส่ผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกปทุมวัน โดยได้นำข้อมูลที่เคยเผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2562 ซึ่งเคยโพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับน้ำสีฟ้า ที่ทางการของฮ่องกงใช้ฉีดใส่ผู้ชุมนุม ระบุข้อความว่า

จากข่าววันเสาร์ที่ผ่านมา (31-08-2019) ที่ทางการของฮ่องกงได้มีการใช้งานสีย้อมสีน้ำเงินละลายน้ำแล้วฉีดใส่ผู้ชุมนุมประท้วง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ชุมนุมได้แบบที่เรียกว่าเป็นหลักฐานติดตัวอย่างน้อย 3-7 วันได้เลยจากลิงก์นี้นะครับ

ซึ่งแอดเห็นสีที่ละลายน้ำที่เป็นสีน้ำเงิน (Blue) แต่คราบสีที่ติดบนผิวหนังที่เป็นสีฟ้าอมเขียว (Greenish blue) บนร่างกายของผู้ชุมนุมนั้น แอดคาดว่าสีที่ว่านั้นน่าจะคือ “เมธิลลีนบลู” (Methylene Blue) หรือไม่ก็สีในกลุ่มของ Azure A, B, C หรืออาจจะเป็นสีของ “Thionine” (Lauth's violet) ก็ได้นะครับ

สีเกาะตัวนาน 7 วัน 

โดยสีทั้งหมดในซีรีส์นี้ ต่างก็เป็นสีย้อมที่มีโครงสร้างส่วนให้สี เป็น ไธอะซีนที่มีประจุบวก ที่สามารถติดบนวัสดุโปรตีน ทั้งผิวหนังคน เชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงเส้นใยไหมและขนสัตว์ได้ดี แม้ที่อุณหภูมิห้อง

เมื่อทางการของฮ่องกงได้นำมาใช้ในการละลายน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุมนั้น ก็สามารถที่จะทำให้สีนั้นสามารถติดบนผิวหนังได้ตามระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน

ตามแต่ความเข้มและความสามารถในการขัดล้างของผู้ที่โดนฉีดสีเหล่านี้ (ตามอายุของขี้ไคลและหนังกำพร้าที่เกาะอยู่บนผู้เปื้อนสี) 

หลายๆคนก็คงสงสัยว่า แล้วสีในกลุ่มนี้จะขัดไม่ออกเลยรึ?? สีกลุ่มนี้มีสภาพประจุบวกที่แรงมากๆที่สามารถติดบนวัสดุที่มีประจุลบทั้งๆที่มีคราบไขมัน รวมไปถึงเกิดพันธะไอออนิกกับหมู่ “คาร์บอกซิเลต” (Carboxylate :-COO⁻) ของโปรตีนได้ดีมาก จึงทำให้การชำระล้างด้วยสารซักล้างธรรมดานั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เว้นแต่ว่าจะขัดคราบขี้ไคลหรือหนังกำพร้าออกจนหมด ซึ่งก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย (ถ้าใครเคยทำ Gram staining หรือ biological staining ด้วยสีเหล่านี้ จะซาบซึ้งถึงความยากลำบากในการขัดออกมากๆเลยนะครับ) แม้ว่าสีเหล่านี้จะสามารถถูกรีดักชั่น ด้วยกลูโคสในสภาวะเบสแก่จน “สีหาย” ได้

 

แต่เมื่อทิ้งไว้สักพักในบรรยากาศที่มีออกซิเจนนั้น สีก็จะกลับกลายมายิ้มโชว์ความฟ้าอย่างชัดเจนอยู่ดี (ลอง search keyword “Blue bottle experiment” ดูนะครับ) และสีกลุ่มนี้จะทนต่อสารฟอกขาวออกซิไดซ์  เช่น สารฟอกขาวคลอรีน และสารฟอกขาวเปอร์ออกไซด์ได้ดีมากๆเลยนะครับ คือ ได้แต่รอให้เวลาผ่านไปจนเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังนั่นแหละ 

หลายๆ คนก็คงสงสัยต่อว่า อ้าว แล้วสีกลุ่มนี้เมื่อรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดมลภาวะหรือไม่??
สีในกลุ่มนี้มีความคงทนต่อแสง (Light fastness) ที่ต่ำมากๆ เรียกว่าเพียงแค่ 1 เดือนเมื่อเจอแดดค่อนข้างจัดๆนี่ สีก็หายไปเยอะมาก (จึงไม่นิยมนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า เว้นแต่จะนำมาย้อมบนเส้นใยอะคริลิกที่จะอยู่นานสุดนะครับ) และยิ่งในสภาวะที่ละลายน้ำนั้นสีจะสลายตัวได้เร็วมากๆ และสามารถถูกดูดซับด้วยวัสดุดูดซับ (absorbent) ได้ง่ายมากๆด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สีในกลุ่มนี้จะสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายชนิดมากๆ ก็อาจจะทำให้สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในท้องถิ่นธรรมชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปได้นะครับ และด้วยสีในกลุ่มนี้มีสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ จึงนิยมใช้ในการรักษาปลาจาก “โรคที่เกิดจากพยาธิ "อิ๊ค" (Ichthyopthirius sp.)” ได้ดีเลยเชียว!! แต่แอดว่า ทางการฮ่องกงคงจะมีการรองรับผลที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมของการใช้น้ำสีเหล่านี้ฉีดใส่ผู้ชุมนุมแล้วล่ะครับ (ซึ่งแอดจะขอกล่าวเฉพาะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ขอมองข้ามเรื่องสังคมและการเมืองไปนะครับ)

 

 

Note เพิ่มเติม : มีหลายท่านก็มองดูเหมือนจะเป็น “มาลาไคต์กรีน” (Malachite Green) ที่ให้สีเขียวอมฟ้า (Bluish green) ก็เป็นไปได้นะครับ เนื่องจาก Malachite Green นั้นก็เป็น Cationic dyes เช่นเดียวกัน และมีสมบัติเป็น Biological staining ได้ดีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีโครงสร้างส่วนให้สีเป็น Triarylmethane นะครับ ตรงนี้แอดจึงขอคาดเดาเพิ่มเป็นอีกหนึ่งตัวด้วยนะครับ"
จากข่าววันเสาร์ที่ผ่านมา (31-08-2019)...โพสต์โดย เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ส.ค.2019

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ยุติการชุมนุม" แยกปทุมวัน-บาดเจ็บเบื้องต้น 4 คน

กระชับพื้นที่ “แยกปทุมวัน” ตำรวจ-ผู้ชุมนุมชุลมุน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง