วันนี้ (21 ต.ค.2563) นายอานนท์ อินทะโส ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 สุราษฎร์ธานี กล่าวถึงกรณีหินเกาะทะลุพังถล่ม ว่า ก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรณีได้ทำการสำรวจ "เกาะทะลุ" มีอายุประมาณ 260 ล้านปี เป็นหินปูนมีลักษณะเปราะ มีรอยแตก ฐานของหินเกาะทะลุเล็กประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกและคลื่นลมทะเลมีกำลังแรง จึงทำให้หินเกาะทะลุแตกและพังถล่มลงมา เป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ
เขาหินปูนจะมีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้หากฝนตกลงมามาก น้ำฝนจะทำปฏิกิริยากับหินปูนทำให้เกิดการละลายประกอบกับมีรอยแยก รอยแตก มีฝนตกและมีลมแรง มีน้ำแทรกเข้ามาก จนสูญเสียเสถียรภาพทำให้เกิดการถล่ม ซึ่งสามารถเกิดในบนบกและในทะเล
เกาะทะลุ จ.กระบี
นักธรณีวิทยา กล่าวว่า การถล่มเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ผ่านมาขนาดเล็กร่องรอย 1 เมตร และบางทีก็จมในทะเล ซึ่งในพื้นที่ จ.กระบี่ บนบกก็เคยมีเขาหินปูนถล่ม ปัจจัยจากการเปิดหน้าดินบนภูเขาเพื่อสร้างรีสอร์ตพื้นที่ลาดชันเชิงเขาเป็นสิ่งที่อันตราย
หลายจุดท่องเที่ยวทางทะเลที่มีลักษณะคล้ายกันเช่น เขาตะปู จ.พังงา ก็ถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยง เพราะมีน้ำเข้าไปแทรก มีรอยแยก มีปัจจัยเรืองคลื่นลม และอาจต้องเฝ้าระวังและแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว
ขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และสำนักงานทรัพยากรธรณี เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และเร่งตรวจสอบเขาหินปูนลูกอื่น ๆ ในพื้นที่ เพราะยังมีอีกหลายลูกที่มีความเสี่ยงแตกหัก พัง ถล่มลงมาได้อีก
ขอประชาชนในพื้นที่ระวังอันตราย ทั้งภูเขาหินปูนและดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน
เกาะทะลุ จ.กระบี
ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุเกาะหินแตกถล่ม ที่หมู่เกาะสุรินทร์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ ก.ย.2563 ซึ่งมีการถล่มลงในทะเลเป็นบริเวณกว้าง ร้อยละ 15-20 ของพื้นที่เกาะ
โดยจากการตรวจสอบสันนิษฐานว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินและชั้นดินที่ถูกกัดเซาะจากฝนตกหนักและคลื่นลมแรง
"เขาหินปูน" หมู่เกาะอ่างทอง (ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช)
อ่านข่าว : พิษโนอึล "เขาหินปูน" หมู่เกาะอ่างทอง พังถล่ม
สำรวจใต้น้ำพบโพรงอากาศ เสี่ยงถล่มซ้ำ
ขณะที่วันนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ดำน้ำสำรวจพบว่าบริเวณรอบเกาะทะลุยังมีรอยร้าวอีกหลายจุด มีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมาได้ จึงได้ประกาศเตือนนักท่องเที่ยว ให้ระมัดระวัง ห้ามเข้าใกล้จุดเกิดเหตุ
เจ้าหน้าที่ดำน้ำสำรวจที่ระดับความลึกประมาณ 20 เมตร พบก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมาก บางส่วนมีรอยแตกชิ้นส่วนกระจัดกระจายทั่วบริเวณ
นอกจากนั้นยังมีต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่อยู่บนเขาทะลุ หักโค่นลงมาทั้งต้น และพบว่ายังมีโพรงอากาศด้านล่างของเกาะทะลุ มีความเสี่ยงที่จะพังถล่มลงมาได้ตลอดเวลา นักดำน้ำจึงต้องรีบขึ้นมาเพื่อความปลอดภัย
ขณะที่ นายประยูร พงศ์พันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ เพื่อห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือเรือประมงเข้ามาใกล้บริเวณดังกล่าว